settings icon
share icon
คำถาม

พระคัมภีร์กล่าวอย่างไรเกี่ยวกับการไว้วางใจผู้อื่น

คำตอบ


ในหัวข้อเรื่องการไว้วางใจผู้อื่น กษัตริย์ดาวิดกล่าวไว้ว่า “เข้าลี้ภัยอยู่ในพระยาห์เวห์ก็ดีกว่าวางใจในมนุษย์ เข้าลี้ภัยอยู่ในพระยาห์เวห์ก็ดีกว่าวางใจในเจ้านาย” (สดุดี118:8-9) กษัตริย์ดาวิดกล่าวจากประสบการณ์ที่ถูกคนใกล้ชิดหักหลังหลายครั้ง (ดูสดุดี 41:9) แทนที่จะขมขื่นหรือมองว่าโดยธรรมชาติแล้วทุกคนไม่น่าไว้วางใจและไม่คุ้มค่ากับเวลาของพระองค์ พระองค์ได้เรียนรู้และได้สอนความจริงง่ายๆ ว่าคนบาปจะทำให้เราผิดหวังแต่เราสามารถวางใจในพระเจ้าได้เสมอ กษัตริย์โซโลมอนโอรสของดาวิดได้เรียนรู้บทเรียนนั้นเป็นอย่างดีและได้เพิ่มเติมเข้าไปในบทเรียนนั้นโดยกล่าวว่าการไว้วางใจพระเจ้าดีกว่าการไว้วางใจในจิตใจของเราเอง (สุภาษิต 3:5–6)

แม้ว่าคนอื่นจะทำให้เราผิดหวังในบางครั้งและเราเองก็ไม่ได้เป็นคนที่ไว้วางใจได้เสมอไป เรายังสามารถและยังควรไว้วางใจผู้คนในระดับที่แตกต่างกันได้ หากปราศจากความไว้วางใจ ความสัมพันธ์ที่แท้จริงก็เป็นไปไม่ได้ นั่นเป็นเพราะเรารู้ว่าพระเจ้าจะไม่ทำให้เราผิดหวังที่เราจะสามารถไว้วางใจผู้อื่นได้ ความปลอดภัยสูงสุดของเราอยู่ในพระองค์ ดังนั้นเราจึงมีอิสระที่จะไว้วางใจผู้อื่นและสัมผัสกับความสุขที่ได้ไว้วางใจผู้อื่น การไว้วางใจผู้อื่นแทบจะไม่สามารถแยกออกจากการรักผู้อื่นได้ ความใกล้ชิดที่แท้จริงทำได้ผ่านทางความซื่อสัตย์และความไว้วางใจเท่านั้น การแบกภาระของกันและกันต้องอาศัยความไว้วางใจ (กาลาเทีย 6:2) และ “ปลุกใจกันและกันให้มีความรักและทำความดี” (ฮีบรู 10:24) การสารภาพบาปของเราต่อกันและกันต้องอาศัยความไว้วางใจ (ยากอบ 5:16) และแบ่งปันความต้องการต่างๆ ของเรา (ยากอบ 5:14, โรม 12:15) การไว้วางใจเป็นสิ่งจำเป็นในทุกความสัมพันธ์ของมนุษย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการทำงานอย่างสมบูรณ์ของครอบครัวของพระคริสต์

คริสเตียนควรพยายามเป็นคนที่ไว้วางใจได้ พระเยซูทรงได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าสาวกของพระองค์ควรรักษาคำพูดของพวกเขา (มัทธิว 5:37) ยากอบได้กล่าวถึงพระบัญชานี้อีกครั้ง (ยากอบ 5:12) คริสเตียนได้รับการเรียกให้สุขุมและละเว้นจากการนินทา (สุภาษิต 16:28, 20:19, 1 ทิโมธี 5:13, 2 ทิโมธี 2:16) ในเวลาเดียวกันคริสเตียนได้รับการเรียกให้แสดงความคิดเห็นตามความเหมาะสมและช่วยให้นำมาซึ่งการฟื้นฟูจากบาป (มัทธิว 18:15–17, กาลาเทีย 6:1) คริสเตียนต้องเป็นผู้กล่าวความจริงและกล่าวความจริงนี้ด้วยความรัก (เอเฟซัส 4:15, 1 เปโตร 3:15) พวกเรา “จงอุตส่าห์ถวายตัวท่านเองที่พระเจ้าทรงรับรองแล้วแด่พระองค์ เป็นคนงานที่ไม่อับอาย สอนพระวจนะแห่งความจริงอย่างถูกต้อง” (2 ทิโมธี 2:15) คริสเตียนยังได้รับการคาดหวังให้ดูแลความต้องการในทางปฏิบัติของผู้อื่น (ยากอบ 2:14–17, 1 ยอห์น 3:17–18, 4:20–21) การกระทำทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้เป็นผู้ที่ไว้ใจได้ คริสเตียนควรเป็นผู้ที่คนอื่นไว้วางใจได้ ความน่าเชื่อถือดังกล่าวได้รับอำนาจมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทำงานในชีวิตของผู้เชื่อ (2 โครินธ์ 3:18, ฟิลิปปี 1:6, กาลาเทีย 5:13–26)

การไว้ใจผู้อื่นไม่ใช่เรื่องธรรมดาหรือง่ายเสมอไป เรานั้นฉลาดในการใช้เวลาทำความรู้จักกับผู้อื่นและไม่ควรประมาทโดยการให้ความไว้ใจต่อพวกเขาอย่างเต็มที่ พระเยซูทรงทำแบบนี้เมื่อพระองค์ปลีกตัวออกจากฝูงชนในบางช่วงเวลา (ยอห์น 2:23–25, 6:15) แต่บางครั้งก็เป็นการยากที่จะบอกความแตกต่างระหว่างความฉลาดในเรื่องความไว้วางใจของเรากับการปกป้องตัวเองมากเกินไปจากความเจ็บปวดหรือความกลัวในอดีต หากเราพบว่าตัวเองไม่เต็มใจที่จะไว้วางใจใครในระดับใดก็ตาม เรานั้นฉลาดที่จะใคร่ครวญดูและหากจำเป็นให้ทูลขอพระเจ้าให้ทรงรักษาหัวใจที่บอบช้ำของเรา

พระคัมภีร์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการไว้วางใจผู้อื่นหลังจากที่เราได้รับความเจ็บปวด การไว้วางใจพระเจ้าเป็นขั้นตอนแรกซึ่งสำคัญที่สุด เมื่อเรารู้ว่าไม่ว่ามนุษย์จะทำอะไรกับเรา พระเจ้าจะอยู่ที่นั่นเสมอ อย่างสัตย์ซื่อและแท้จริง รวมถึงวางใจได้ มันจะทำให้เรารับมือกับการทรยศหรือความผิดหวังได้ง่ายมากขึ้น พระธรรมสดุดี 118:6 กล่าวว่า “เมื่อพระยาห์เวห์ทรงอยู่ฝ่ายข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่กลัว มนุษย์จะทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า?” การอ่านพระวจนะของพระเจ้าโดยให้ความสนใจกับวิธีที่พระองค์ทรงอธิบายถึงความสัตย์ซื่อและความน่าไว้วางใจของพระองค์จะเป็นประโยชน์สำหรับเรา การอธิษฐานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรารู้สึกว่าพระเจ้าทรยศต่อความไว้วางใจของเราด้วยการปล่อยให้เราเจ็บปวด เราต้องได้รับการเตือนใจถึงความจริงของพระองค์และการทรงปลอบประโลมด้วยความรักของพระองค์

ขั้นตอนที่สองหลังจากได้ถูกทำให้เจ็บปวดจากการไว้ใจผู้อื่นคือการให้อภัย ดังที่พระเยซูตรัสกับเปโตรว่า ถ้าพี่น้องทำบาปต่อท่านเจ็ดสิบเจ็ดครั้งต่อวันและกลับมาขอการอภัย เราควรให้อภัย (มัทธิว 18:21–22) ประเด็นไม่ใช่ว่าเราไม่ควรให้อภัยความผิดครั้งที่เจ็ดสิบแปด แต่เราควรเป็นคนที่แสวงหาการให้อภัยอย่างต่อเนื่อง หากมีคนทรยศต่อความไว้วางใจของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่สำนึกผิด เราก็ไม่จำเป็นต้องคบหากับเขาต่อไปหรือทำให้ตัวเรารู้สึกอ่อนแอเพราะเขา แต่เช่นเดียวกันเราก็ไม่ควรเก็บงำความขมขื่นหรือปล่อยให้การกระทำของบุคคลนั้นขัดขวางความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น (ฮีบรู 12:14–15) ถ้าคนๆ นั้นกลับใจอย่างแท้จริง แม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับการทรยศและเป็นการแสวงประโยชน์จากความไว้วางใจก็ตาม เราต้องแสวงหาการให้อภัยอย่างเต็มที่และแม้แต่ดำเนินการฟื้นฟูและสร้างความไว้วางใจขึ้นมาใหม่ตามเวลา ในส่วนหนึ่งของบทเรียนเรื่องการให้อภัยของพระเยซู พระองค์ทรงเล่าคำอุปมาเรื่องผู้รับใช้คนหนึ่งซึ่งได้รับการยกหนี้ก้อนโตและเมื่อได้ออกไปแล้วทันทีทันใดก็ได้ทำตัวเป็นผู้ตัดสินและโหดร้ายต่อคนรับใช้อีกคนหนึ่งที่เป็นหนี้เขาก้อนเล็กๆ การกระทำที่ไร้หัวใจของผู้รับใช้ที่ไร้ความเมตตาควรเตือนเราถึงความจำเป็นในการให้อภัยของเรา เราได้รับการอภัยจากพระเจ้าสำหรับหนี้ก้อนใหญ่กว่าสิ่งอื่นใดที่คนอื่นติดค้างเราไว้ (มัทธิว 18:23–35)

สุดท้ายนี้ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าขณะที่เราเรียนรู้ที่จะไว้วางใจผู้อื่น เราเองควรพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะเป็นคนซึ่งไว้ใจได้เช่นเดียวกัน นี่เป็นสิ่งที่ดีและเป็นไปตามทางของพระเจ้า เราควรเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้อื่น (สุภาษิต 3:29) และรักษาความไว้วางใจได้ (สุภาษิต 11:13) เราควรเป็นที่รู้จักในเรื่องความซื่อสัตย์ของเรา (สุภาษิต 12:22) และมีความเต็มใจที่จะทนทุกข์กับเพื่อน (สุภาษิต 17:17) ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและเราต้องการมิตรภาพมากขึ้นในยามที่ดวงอาทิตย์ไม่ส่องแสง บางครั้งเราก็ทำให้คนอื่นผิดหวัง แต่เราควรพยายามอยู่เสมอเพื่อ “ดำเนินชีวิตสมกับการทรงเรียกที่ท่านได้รับการทรงเรียกมานั้น คือจงถ่อมใจและมีความสุภาพอ่อนโยนอยู่เสมอ จงอดทน จงอดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก” (เอเฟซัส 4:1-2)

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

พระคัมภีร์กล่าวอย่างไรเกี่ยวกับการไว้วางใจผู้อื่น
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries