settings icon
share icon
คำถาม

ผู้เทศนาเกี่ยวกับข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุกคนเป็นคนหลอกลวงและ/หรือเป็นผู้สอนเท็จหรือไม่

คำตอบ


ผู้เทศนาเกี่ยวกับข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุกคนเป็นคนหลอกลวงและ/หรือเป็นผู้สอนเท็จหรือไม่

คำตอบ ก่อนที่เราจะสามารถให้ความสนใจอย่างจริงจังกับคำถามนี้ ประการแรกเราต้องให้คำจำกัดความต่อคำว่าผู้เทศนาเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรือง พันธกิจที่แตกต่างกันมีวิธีการนำเสนอข่าวประเสริฐที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น องค์การสงเคราะห์นั้นตอบสนองต่อความต้องการทางกายภาพของคนที่ขัดสนในขณะที่ยกย่องพระเยซู บางคนอาจตีความแนวทางดังกล่าวว่าเป็นการเทศนาเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากคนยากไร้จำนวนมากเปรียบว่าศาสนาคริสต์กับความเจริญรุ่งเรืองของทางตะวันตกนั้นเท่ากัน พวกเขาอาจจะตอบสนองต่อข้อความของข่าวประเสริฐในขณะที่แรงผลักดันที่แท้จริงคือการมีความเจริญรุ่งเรือง อย่างไรก็ตามสำหรับองค์การสงเคราะห์ส่วนใหญ่แล้ว การตอบสนองต่อความต้องการทางกายภาพเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือคนคนหนึ่งในทุกด้าน ด้วยวิธีนั้นคริสเตียนได้รับสิทธิ์ในการกล่าวถึงความต้องการฝ่ายวิญญาณของผู้ที่กำลังเจ็บปวด แต่การเทศนาเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองนั้นพระเยซูถูกนำเสนอว่าเป็นตั๋วไปสู่สุขภาพที่สมบูรณ์แบบและความร่ำรวยทางการเงิน ข่าวประเสริฐที่แท้จริงถูกถอดออกจากจุดสนใจของมันในเรื่องชีวิตนิรันดร์และถูกลดลงจนทำให้ทุกคนสามารถสัมผัสชีวิตซึ่งดีที่สุดได้ในตอนนี้ และนี่เป็นข้อความนั้นที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม พระเจ้าตรัสอย่างมากเกี่ยวกับการอวยพระพรผู้รับใช้ของพระองค์ด้วยสุขภาพ ความร่ำรวย และเกียรติทางโลก (ยกตัวอย่างเช่น ปฐมกาล 12:2, เลวีนิติ 26:3-12, เฉลยธรรมบัญญัติ 7:11-15, 30:8-9, 1 พงศ์กษัตริย์ 3:11-14) การอวยพระพรทางด้านวัตถุเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่พระเจ้าทำกับโมเสสและพันธสัญญาปาเลสไตน์สำหรับคนอิสราเอล อย่างไรก็ตามพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่เน้นย้ำไปยังรางวัลที่เป็นนิรันดร์ไม่ใช่รางวัลในโลก

ไม่ใช่ว่าผู้เทศนาทุกคนที่สอนเกี่ยวกับความสุขของพระพรจะเป็น “ผู้เทศนาเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรือง” พระเจ้าได้ทรงสัญญาถึงพระพรแก่ผู้ที่รับใช้พระองค์อย่างสัตย์ซื่อและติดตามสถานภาพของพระองค์ (สดุดี 107:9, มาลาคี 3:10-11, มาระโก 10:29-30) แต่ผู้เทศนาซึ่งนำเสนอพระเจ้าด้วยวิธีการที่ว่าเราสามารถได้รับความร่ำรวยทางโลกเป็นผู้เทศนาเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองและเป็นผู้สอนเท็จ การสอนนี้บรรยายบทบาทของพระเจ้าผู้ทรงมีฤทธิ์อำนาจในรูปแบบของของซานตาคลอสผู้เบิกบานซึ่งมีจุดประสงค์หลักคือทำให้มนุษย์เจริญรุ่งเรืองและทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริง ในการสอนเรื่องความเจริญรุ่งเรืองนั้นเป็นมนุษย์เองซึ่งเป็นตัวเอกที่แท้จริง ไม่ใช่พระเจ้า

ผู้ที่สอนเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองใช้คำเช่น ความเชื่อ การสารภาพบาปด้วยการใช้คำพูดเชิงบวก หรือการทำให้เห็นภาพเพื่อ “ปลดปล่อย” ความอุดมสมบูรณ์ที่พระเจ้าได้เตรียมไว้ให้ บ่อยครั้งผู้เทศนานั้นจะดึงดูดใจผู้ฟังให้ “หว่านเมล็ด (เงิน (เพิ่มเติมโดยผู้แปล)) เข้าไปยังพันธกิจนี้” โดยให้สัญญาว่าจะได้รับผลตอบแทนอย่างอุดมสมบูรณ์จากการลงทุนครั้งนี้ ข่าวประเสริฐกลายเป็นสิ่งที่มากกว่าแผนการที่จะร่ำรวยในเวลาอันรวดเร็วซึ่งถูกนำมาเขียนใหม่เพียงเล็กน้อย ด้วยการที่ผู้นำพันธกิจนั้นร่ำรวยกว่าผู้ฟัง บ่อยครั้งการเชิญชวนให้ต้อนรับพระคริสต์จะมีในช่วงท้ายสุดของการนมัสการซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนการอวยพระพรและสิ่งต่างๆ ในเชิงบวกเพียงเท่านั้น แม้จะมีการตอบสนองที่ท่วมท้นต่อคำเชิญ คนคนหนึ่งก็อาจสงสัยว่า ผู้ที่ตอบสนองทั้งหลายยอมจำนนต่อพระเยซูในพระคัมภีร์หรือต่อคำสัญญาเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองและความเจริญรุ่งเรือง

การเปลี่ยนจากความจริงไปยังความผิดพลาดนั้นอาจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและผู้เทศนาที่มีเจตนาดีบางคนก็จมอยู่กับสิ่งนี้ เราต้องระวังที่จะไม่ตัดสินข้อความทั้งหมดของผู้เทศนาโดยการฟังการเทศนาเพียงแค่หนึ่งครั้งหรือสองครั้ง อย่างไรก็ตามเมื่อการเทศนาเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองที่ชัดเจนครอบงำคำกล่าวของผู้พูด สิ่งนี้เพียงแค่เป็นความพยายามที่จะทำให้ความโลภและวัตถุนิยมดูเป็นฝ่ายจิตวิญญาณ พระธรรมเอเฟซัส 5:5 มีคำที่รุนแรงสำหรับผู้ที่มีความโลภคือ “ท่านแน่ใจได้เลยว่าคนผิดศีลธรรม คนไม่บริสุทธิ์ หรือคนโลภ คนเช่นนี้เป็นผู้กราบไหว้รูปเคารพ เขาจะไม่ได้รับมรดกใดๆ ในอาณาจักรของพระคริสต์และของพระเจ้า” ในขณะที่เราควรขอให้พระเจ้าประทานตามความจำเป็นของเราและคาดหวังให้พระองค์ทรงกระทำเช่นนั้น (ฟิลิปปี 4:19) พระเยซูทรงเตือนเราไม่ให้เก็บสะสมความร่ำรวยในโลก ในทางกลับกันเราต้องเก็บสะสมทรัพย์สมบัติในสวรรค์ (ลูกา 12:33)

จุดสนใจที่ไม่สมดุลของผู้ที่เทศนาเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองในเรื่องทรัพย์สมบัติในโลกเป็นอะไรซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับหลายตอนที่เตือนเราไม่ให้ปรารถนาความร่ำรวย (สุภาษิต 28:22, 2 ทิโมธี 3:2, ฮีบรู 13:5) พระธรรม 1 ทิโมธี 6:8-10 กล่าวโดยตรงเกี่ยวกับการสอนประเภทนี้คือ “แต่ถ้าเรามีอาหารและเสื้อผ้า ก็ให้เราพอใจด้วยของเหล่านั้นเถิด ส่วนคนเหล่านั้นที่อยากร่ำรวยก็ตกอยู่ในการทดลองและติดบ่วงแร้ว และในตัณหาหลายอย่างอันโฉดเขลาและเป็นภัยแก่ตัว ซึ่งทำให้คนเราต้องจมลงถึงความพินาศเสื่อมสูญไป ด้วยว่าการรักเงินนั้นเป็นรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งสิ้น ขณะที่บางคนโลภสิ่งเหล่านี้จึงได้หลงไปจากความเชื่อนั้น และทิ่มแทงตัวของเขาเองให้ทะลุด้วยความทุกข์ใจเป็นอันมาก” เมื่อความร่ำรวยทางโลกเป็นจุดสนใจของเรา เราไม่ได้กำลังทำตามคำสอนของพระคัมภีร์

ถ้าการแสวงหาความเจริญรุ่งเรืองครอบงำข้อความของผู้เทศนา เขาหรือเธออาจจะเป็นผู้ที่พระคัมภีร์เตือนถึง ต่อไปนี้เป็นคุณลักษณะทั่วไปบางประการของผู้เทศนาเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองหลายๆ คน

• แกนหลักของข้อความที่เขาหรือเธอนำเสนอตลอดก็คือพระเจ้ามีความปรารถนาที่จะอวยพระพรทุกคน
• มีการกล่าวถึงคำตรัสของพระเยซูเรื่องการปฏิเสธตัวเอง การแบกกางเขนของเรา หรือการตายต่อเนื้อหนัง (ลูกา 9:23, มัทธิว 10:38, 16:24) อยู่น้อยหรือแทบจะไม่มีการกล่าวถึงเลย
• การสอนเกือบทั้งหมดของพวกเขามุ่งเน้นไปที่ความสมหวังในความปรารถนาของเนื้อหนังแทนที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงฝ่ายจิตวิญญาณ (โรม 8:29)
• การคิดในด้านบวกเกี่ยวกับตัวของคนคนหนึ่งเองและสถานการณ์ของเขาที่มักจะเปรียบเทียบกับความเชื่อและมีการนำเสนอว่าเป็นวิธีการซึ่งคนคนหนึ่งจะได้รับการอวยพระพรด้านการเงิน
• มีการขาดการสอนที่ชัดเจนเกี่ยวกับความจำเป็นของการทนทุกข์ในชีวิตของผู้เชื่อ (2 ทิโมธี 2:12, 3:12, โรม 8:17, ฟิลิปปี 1:29)
• มีความแตกต่างกันน้อยมากระหว่างบุตรของพระเจ้าและผู้ที่ไม่ได้รับความรอดในคำสัญญาเชิงบวกของข้อความนั้นๆ (มาลาคี 3:16-18, โรม 9:15-16)
• ผู้พูดแทบจะไม่พยายามสอนพระคัมภีร์อย่างแท้จริงในแบบใดก็ตามที่ไม่สนับสนุนข้อความซึ่งต่อเนื่องในด้านบวกและเรื่องการอวยพระพร (1 โครินธ์ 3:1-3)
• เขาหรือเธออยู่ห่างจากข้อพระคัมภีร์ที่ขัดแย้งกับข้อความเชิงบวก (2 ทิโมธี 4:3)
• ความร่ำรวยส่วนตัวของผู้นำพันธกิจมักจะอยู่สูงกว่าวิถีชีวิตโดยทั่วไปของที่ประชุมของเขา (สดุดี 49:16-17)
• พระลักษณะเดียวของพระเจ้าที่เคยมีการเอ่ยถึงคือความรักและพระกรุณา แทบจะไม่มีการให้ความสนใจไปยังความบริสุทธิ์ ความยุติธรรม และความชอบธรรมของพระองค์
• ทั้งยังไม่เคยกล่าวถึงพระพิโรธของพระเจ้าที่มีต่อบาปหรือการพิพากษาที่จะเกิดขึ้น (โรม 2:5, 1 เปโตร 4:5)
• มีแค่เพียงการสนทนากันในตอนท้ายถึงเรื่อง “ความบาป” ที่เป็นด้านลบ ความยากจน หรือความผิดพลาดของคนคนหนึ่งในการเชื่อถือในตัวเอง (1 โครินธ์ 6:9-10, ฟิลิปปี 3:3)
• มีการเน้นย้ำเกี่ยวกับการให้อภัย แต่มีคำอธิบายเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการกลับใจซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อพระเยซูและสาวกของพระองค์ (มัทธิว 4:17, มาระโก 6:12, กิจการ 2:38)
• การอธิษฐานด้วยความเชื่อมักจะเป็นการกล่าวถึงวิธีการที่มนุษย์ “ไม่เหลือทางเลือกให้พระเจ้าแต่ให้พระองค์อวยพระพรฉัน”

มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างในศาสนาคริสต์ต่อรูปแบบของข่าวประเสริฐที่อัครทูตทั้งหลายอาจจะไม่ยอมรับ ผู้คนกำลังกลายเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านพระคัมภีร์และดังนั้นจึงถูกชักจูงได้ง่ายโดยผู้เทศนาที่ดูเหมือนรู้พระคัมภีร์แต่กลับบิดเบือนพระคัมภีร์เพื่อทำให้ดูน่าดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น ผู้เทศนาเหล่านี้กำลังชักจูงคนกลุ่มใหญ่ เหมือนที่พระเยซูได้ทรงทำเมื่อพระองค์ทรงเลี้ยงอาหารคนเป็นพันๆ คน (มัทธิว 14:21) รักษาคนป่วย (มาระโก 1:43) และทำการอัศจรรย์ (ยอห์น 6:2) แต่เมื่อพระเยซูเริ่มสอนความจริงที่หนักแน่นของข่าวประเสริฐ “สาวกของพระองค์หลายคนถดถอยไม่ติดตามพระองค์ต่อไปอีก” (ยอห์น 6:66) การที่ผู้คนลดน้อยลงไม่ได้เป็นสาเหตุให้พระเยซูทำให้ข้อความของพระองค์เจือจางลง พระองค์ทรงสอนความจริงต่อไปแม้ว่าผู้คนจะชอบหรือไม่ (ยอห์น 8:29) ยิ่งกว่านั้นอัครทูตเปาโลทำให้ตัวเขาเองพ้นจากความผิดต่อหน้าชาวเอเฟซัสด้วยคำพูดเหล่านี้ “ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอประกาศแก่พวกท่านในวันนี้ว่าข้าพเจ้าพ้นจากความรับผิดชอบต่อความตายของทุกคน เพราะข้าพเจ้าไม่ได้รีรอที่จะประกาศพระประสงค์ทั้งสิ้นของพระเจ้าแก่ท่าน” (กิจการ 20:26-27) ถ้าผู้เทศนาเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองทุกวันนี้ทำตามรูปแบบของพระเยซูและเปาโล พวกเขาก็มั่นใจได้ว่าการงานของพวกเขาจะไม่ถูกเผาในวันพิพากษา (1 โครินธ์ 3:12-15)

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

ผู้เทศนาเกี่ยวกับข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุกคนเป็นคนหลอกลวงและ/หรือเป็นผู้สอนเท็จหรือไม่
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries