settings icon
share icon
คำถาม

พระคัมภีร์พูดอย่างไรเกี่ยวกับการหย่าและการแต่งงานใหม่?

คำตอบ


ในเบื้องต้น ไม่ว่าเราจะมองมุมไหนเกี่ยวกับการหย่าร้าง ประการสำคัญคือให้เรานึกถึงข้อพระคัมภีร์มาลาคี 2:16ก ที่พูดว่า “พระเยโฮวาห์พระเจ้าของอิสราเอลตรัสว่า เราเกลียดชังการหย่าร้าง” พระคัมภีร์บอกว่า ตามแผนการของพระเจ้า การแต่งงานคือการผูกพันชั่วชีวิต “เขาจึงไม่เป็นสองต่อไป แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน เหตุฉะนั้นซึ่งพระเจ้าได้ทรงผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย” (มัทธิว 19:6) แต่พระเจ้าทรงรู้ว่าเนื่องจากการแต่งงานเป็นการผูกพันคนบาปสองคนเข้าด้วยกัน การหย่าร้างจึงเกิดขึ้นได้ ในพันธสัญญาเดิมพระองค์ได้ทรงวางกฎบางประการไว้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ที่ถูกหย่าร้าง โดยเฉพาะฝ่ายหญิง (เฉลยธรรมบัญญัติ 24:1-4) พระเยซูทรงชี้ให้เห็นว่ากฎเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นเพราะหัวใจของมนุษย์แข็งกระด้าง ไม่ใช่เพราะเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า (มัทธิว 19:8)

ข้อถกเถียงที่ว่าพระคัมภีร์อนุญาตให้มีการหย่าร้างหรือการแต่งงานใหม่หรือไม่ ต้องกลับไปดูที่พระวจนะของพระเยซูในหนังสือมัทธิว 5:32 และ 19:9 คำว่า “นอกจากการเล่นชู้” เป็นสิ่งเดียวในพระคัมภีร์ที่ดูเหมือนว่าพระเจ้าจะทรงอนุญาตให้มีการหย่าและแต่งงานใหม่ได้ ผู้ตีความหมายหลายท่านตีความหมายว่า “ข้อยกเว้น” นี้หมายถึง “การเล่นชู้” ระหว่างหมั้นเท่านั้น ในวัฒนธรรมของชาวยิว ชายและหญิงถูกถือว่าสมรสกันแล้วแม้ว่าเขาทั้งสองเพียงแค่“หมั้น” กันเท่านั้น ดังนั้นการผิดศีลธรรมระหว่างช่วงเวลา “หมั้น” จึงเป็นเหตุผลที่เป็นไปได้แต่เพียงเหตุผลเดียวสำหรับการหย่าร้าง

แต่ในศัพท์ภาษากรีก คำว่า “การเล่นชู้” หมายถึงการผิดศีลธรรมทางเพศทุกชนิด มันอาจหมายถึง การผิดประเวณี, การเที่ยวโสเภณี, การนอกใจ, ฯลฯ เป็นไปได้ที่พระเยซูตรัสว่าให้มีการหย่าได้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดศีลธรรมทางเพศ ความสัมพันธ์ทางเพศคือส่วนหนึ่งของความผูกพันในการสมรสที่ทำให้ “เขาทั้งสองเป็นเนื้ออันเดียวกัน” (ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:5; เอเฟซัส 5:31) ดังนั้นการตัดสายใยแห่งความผูกพันนั้นโดยการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสอาจเป็นเหตุผลที่พระคัมภีร์ยอมให้มีการหย่าร้างได้ พระเยซูทรงมีความคิดเกี่ยวกับการแต่งงานใหม่อยู่ในบริบทนี้ด้วยคำว่า “แล้วไปมีภรรยาใหม่” (มัทธิว 19:9) นี่แสดงให้เห็นว่ามีการอนุญาตให้มีการการหย่าร้างและ การแต่งงานใหม่ในกรณีที่เป็นไปตามข้อยกเว้น, ไม่ว่าจะมีการตีความหมายแบบไหนก็ตาม ที่สำคัญคือจงสังเกตว่าฝ่ายที่ไม่มีความผิดเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานใหม่ได้ และแม้ว่าบริบทไม่ได้กล่าวไว้ แต่การอนุญาตให้มีการแต่งงานใหม่หลังการหย่าเป็นพระเมตตาของพระเจ้าต่อผู้ที่ถูกกระทำ ไม่ใช่ต่อผู้กระทำความผิดทางเพศ อาจมีบ้างที่ “ฝ่ายผิด” ได้รับอนุญาตให้แต่งงานใหม่ – แต่แนวความคิดนั้นพระคัมภีร์ไม่ได้สอนไว้

มีบางคนเข้าใจว่าข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 7:15 เป็น “ข้อยกเว้น” อีกข้อหนึ่งที่อนุญาตให้มีการแต่งงานใหม่ได้หากคู่สมรสฝ่ายที่ไม่เชื่อหย่าขาดจากผู้เชื่อ แต่อย่างไรก็ตามบริบทนี้ไม่ได้พูดถึงการแต่งงานใหม่ เพียงแต่พูดว่า ไม่จำเป็นที่ผู้เชื่อจะต้องจำใจอยู่ด้วยกันหากคู่สมรสผู้ไม่เชื่อต้องการจะไป บางคนบอกว่าการกระทำทารุณ (ต่อคู่สมรสหรือลูก) ก็เป็นเหตุผลเพียงพอสำหรับการหย่าร้างแม้ว่าพระคัมภีร์จะไม่ได้มีบอกไว้ก็ตาม ถึงแม้ว่านี่จะเป็นสาเหตุจริง ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องฉลาดที่เราจะทึกทักเอาเองว่าพระคัมภีร์อนุญาต

บางครั้งการมัวแต่ถกกันเกี่ยวกับข้อยกเว้น ทำให้เราลืมความจริงไปว่า ไม่ว่า “ความไม่สัตย์ซื่อในการสมรส” จะหมายความว่าอย่างไร มันไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อการหย่าร้าง แต่เป็นข้อผ่อนปรนให้มีการหย่าได้เท่านั้น แม้ว่าในขณะที่มีการนอกใจเกิดขึ้น โดยพระคุณของพระเจ้า สามีและภรรยาสามารถเรียนรู้ที่จะให้อภัยซึ่งกันและกัน และหันกลับมาสร้างชีวิตสมรสใหม่ได้ พระเจ้าทรงให้อภัยเรามากกว่านั้นมากนัก แน่นอนเราสามารถดูพระองค์เป็นตัวอย่างได้ และยิ่งกว่านั้นเรายังสามารถยกโทษบาปแห่งการนอกใจได้เหมือนกัน (เอเฟซัส 4:12) แต่ในหลายกรณี คู่สมรสไม่ยอมกลับใจใหม่และเลิกทำบาปทางเพศ ในกรณีนี้เราสามารถยกข้อพระคัมภีร์มัทธ19:9 มาใช้ได้ หลายคนรีบร้อนที่จะแต่งงานใหม่จนเกินไปหลังจากการหย่าร้าง ในขณะที่พระเจ้าอาจจะทรงมีพระประสงค์ให้เขาอยู่เป็นโสดก็ได้ บางครั้งพระเจ้าจะทรงเรียกให้คนบางคนอยู่เป็นโสดเพื่อที่เขาจะได้ไม่หันเหความสนใจของเขาไปที่ไหน (1 โครินธ์ 7:32-35) การแต่งงานใหม่หลังการหย่าร้างอาจเป็นทางเลือกในบางกรณี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่อัตราการหย่าร้างในหมู่ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นคริสเตียนสูงเกือบจะพอ ๆ กับอัตราการหย่าร้างในหมู่ผู้ไม่เชื่อ พระคัมภีร์บอกไว้อย่างชัดเจนมากว่าพระเจ้าทรงเกลียดการหย่าร้าง (มาลาคี 2:16) และการคืนดี และการให้อภัยควรเป็นสัญญลักษณ์ของผู้เชื่อ (ลูกา 11:4; เอเฟซัส 4:32) แต่อย่างไรก็ตามพระเจ้าทรงตระหนักว่าจะต้องมีการหย่าร้างแม้แต่ในหมู่ลูก ๆ ของพระองค์ ดังนั้นผู้เชื่อที่ผ่านการหย่าร้างหรือสมรสใหม่ไม่ควรมีความรู้สึกว่าพระเจ้าทรงรักพวกเขาน้อยลง แม้ว่าการหย่าร้างหรือการสมรสใหม่นั้นจะไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อยกเว้นในมัทธิว 19:9 ก็ตาม พระเจ้าทรงใช้แม้แต่ความบาปในการไม่เชื่อฟังของคริสเตียนเพื่อการดีของพระองค์เสมอ

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

พระคัมภีร์พูดอย่างไรเกี่ยวกับการหย่าและการแต่งงานใหม่?
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries