settings icon
share icon
คำถาม

การเป็นผู้อารักขาในทางพระคัมภีร์คืออะไร?

คำตอบ


การค้นหาว่าพระคัมภีร์กล่าวอะไรเกี่ยวกับการเป็นผู้อารักขา สามารถเริ่มต้นด้วยพระคัมภีร์ข้อแรกสุดคือ “ในปฐมกาล พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน” (ปฐมกาล 1:1) ในฐานะพระผู้สร้าง พระเจ้ามีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการเป็นเจ้าของเหนือทุกสิ่ง และการพลาดจากจุดเริ่มต้นนี้ก็เหมือนกับการติดกระดุมเสื้อผิดตั้งแต่เม็ดแรก จึงทำให้เม็ดที่เหลือไม่เรียงเป็นแถว จะไม่มีอะไรเลยในพระคัมภีร์รวมถึงหลักคำสอนของการเป็นผู้อารักขาที่สมเหตุสมผลหรือมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงถ้าเราพลาดข้อเท็จจริงที่ว่าพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างและมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าของ

ดังนั้นหลักข้อเชื่อของการเป็นผู้อารักขาจะเป็นที่เข้าใจก็ต่อเมื่อเราพยายามเข้าใจสิ่งนี้อย่างลึกซึ้งและจารึกมันไว้ในใจ

หลักข้อเชื่อในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการเป็นผู้อารักขานั้นเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า มันบ่งบอกว่าพระเจ้าเป็นเจ้าของและมนุษย์เป็นผู้ดูแล พระเจ้าทรงให้มนุษย์เป็นเพื่อนร่วมงานของพระองค์ในการบริหารชีวิตของเราในทุกแง่มุม อัครทูตเปาโลอธิบายถึงสิ่งนี้อย่างดีมากโดยกล่าวว่า “เพราะว่าเราร่วมกันทำงานเพื่อพระเจ้า ท่านทั้งหลายเป็นไร่นาของพระเจ้า และเป็นตึกของพระองค์” (1โครินธ์ 3:9) เริ่มต้นจากทัศนคตินี้เราจึงสามารถมองได้อย่างเที่ยงตรงและให้คุณค่าในสิ่งที่ถูกต้องซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ทรัพย์สมบัติของเรา แต่ให้คุณค่าในสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือของชีวิตมนุษย์เอง โดยแท้จริงแล้วการเป็นผู้อารักขานั้นกำหนดจุดประสงค์ของเราในโลกนี้ที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราโดยพระองค์เอง เป็นโอกาสอันมีเกียรติของเราที่พระเจ้าทรงให้เราเข้าร่วมกับพระองค์ในการไถ่มนุษย์ให้พ้นจากบาปเป็นนิรันดร์ (มัทธิว 28:19 – 20) การเป็นผู้อารักขานั้นไม่ใช่การที่พระเจ้านำบางสิ่งบางอย่างไปจากเราแต่เป็นการประทานรางวัลแห่งความมั่งคั่งของพระองค์แก่ประชากรของพระองค์

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ มีคำภาษากรีกสองคำที่รวมเข้าด้วยกันทำให้เกิดเป็นความหมายคือ “การเป็นผู้อารักขา” ในภาษาอังกฤษ คำแรกคือ epitropos ซึ่งหมายถึง “ผู้จัดการ หัวหน้าคนงานหรือผู้อารักขา” จากมุมมองของการปกครอง คำนี้หมายถึง “ผู้ปกครองหรือตัวแทน” บางครั้งมีการใช้ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ซึ่งหมายถึง “ผู้พิทักษ์” เช่นในกาลาเทีย 4:1 -2 กล่าวว่า “สิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังกล่าวอยู่นี้ก็คือ ตราบใดที่ทายาทยังเด็กอยู่ก็ไม่ต่างอะไรกับทาส แม้เขาจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด เขาก็ยังอยู่ในบังคับของผู้ปกครองและผู้ดูแลทรัพย์สิน จนกว่าจะถึงเวลาที่บิดากำหนด” คำที่สองคือ oikonomos หมายถึง “ผู้อารักขา ผู้จัดการหรือผู้บริหาร” และคำนี้พบได้บ่อยครั้งในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่และความหมายนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบริบทของข้อพระคัมภีร์ แต่โดยทั่วไปแล้วคำนี้มีความหมายว่า “การแจกจ่าย การเป็นผู้อารักขา การจัดการ การจัดเตรียม การบริหาร คำสั่ง แผนการหรือการอบรม” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงกฎหมายหรือการจัดการครัวเรือนหรือกิจการในครัวเรือนเสียส่วนใหญ่

ถ้าสังเกตในงานเขียนของเปาโล คำว่า oikonomos ได้รับความสำคัญอย่างที่สุด โดยที่เปาโลเห็นว่าความรับผิดชอบของเขาในการเทศนาสั่งสอนพระกิตติคุณว่าเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อวางใจในพระเจ้า (1 โครินธ์ 9:17) เปาโลเอ่ยถึงการที่พระเจ้าทรงเรียกเขาให้เป็นผู้บริหาร (ผู้อารักขา) แห่งพระคุณของพระเจ้าในพันธกิจลึกลับของพระองค์ที่ได้ทรงเปิดเผยในพระคริสต์ (เอเฟซัส 3:2) ในบริบทนี้เปาโลกำลังกล่าวถึงบทบาทของพระเจ้าว่าเป็นเจ้านายของครัวเรือนที่ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งบริหารงานอย่างชาญฉลาดผ่านทางเปาโล ในฐานะผู้รับใช้ที่เชื่อฟังขององค์พระเยซูคริสต์

ในขณะเดียวกันความสำคัญของสิ่งที่เปาโลกำลังกล่าวถึงคือว่าเมื่อเราได้รับการทรงเรียกและอยู่ในพระกายของพระคริสต์ การเป็นผู้อารักขาที่เราได้รับการทรงเรียกนั้นไม่ใช่ด้วยกำลังและความสามารถของเรา แต่กำลัง แรงบันดาลใจและการเติบโตในการจัดการชีวิตของเราต้องมาจากพระเจ้าผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่อยู่ในเรา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วกำลังของเราก็จะสูญเปล่าและการเติบโตในการเป็นผู้อารักขาของเราก็จะกลายเป็นการแสวงหาความชอบธรรมให้กับตนเองซึ่งเป็นเพียงการเติบโตฝ่ายโลก ดังนั้นเราต้องจำไว้เสมอว่าแหล่งกำลังเพียงแหล่งเดียวของเราในการทำให้พระเจ้าพอพระทัยคือ “ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้โดยพระองค์ผู้ประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า” (ฟิลิปปี 4:13) เปาโลกล่าวเช่นเดียวกันว่า “แต่โดยพระคุณของพระเจ้าข้าพเจ้าจึงเป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ และพระคุณของพระองค์ที่มีต่อข้าพเจ้านั้นไม่ใช่ว่าจะไร้ผล ข้าพเจ้าทำงานหนักยิ่งกว่าพวกเขาทั้งปวง แต่ไม่ใช่ข้าพเจ้าเองเป็นคนทำ พระคุณของพระเจ้าซึ่งดำรงอยู่กับข้าพเจ้าต่างหากที่ทำ” (1 โครินธ์ 15:10)

บ่อยครั้งเมื่อเรานึกถึงการเป็นผู้อารักขาที่ดี เรามักจะนึกถึงการจัดการการเงินของเราและความสัตย์ซื่อของเราในการถวายสิบลดและการถวายทรัพย์ แต่เมื่อเราเริ่มสังเกตเราจึงรู้ว่ามันมีมากกว่านั้น ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นมากกว่าการจัดการเวลา ตำแหน่ง สภาพแวดล้อมหรือสุขภาพของเรา การเป็นผู้อารักขาคือการเป็นพยานในการที่จะเชื่อฟังพระเจ้าผู้สูงสุด ซึ่งสิ่งนี้ที่เป็นแรงผลักดันให้ผู้ติดตามของพระคริสต์แสดงออกทางความเชื่อผ่านทางการกระทำ โดยเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในพระเยซูของเขา ดังนั้นการเป็นผู้อารักขาของเปาโลเกี่ยวข้องกับการได้รับมอบหมายให้ประกาศความจริงของข่าวประเสริฐ

การเป็นผู้อารักขาได้กำหนดขอบเขตของการเชื่อฟังในทางปฏิบัติผ่านทางการเป็นผู้ดูแลและจัดการทุกอย่างที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา รวมถึงทุกสิ่งที่มอบไว้ให้แก่เรา สิ่งนี้แสดงถึงการอุทิศตัวของคนคนหนึ่งและตำแหน่งของเขาเพื่อการรับใช้พระเจ้า การเป็นผู้อารักขานั้นทำให้ตระหนักว่าเราไม่สิทธิ์ในการควบคุมเหนือตัวของเราเองหรือทรัพย์สมบัติของเราแต่พระเจ้าเป็นผู้ควบคุมสิ่งนั้น สิ่งนี้หมายความว่าในฐานะผู้อารักขาของพระเจ้า เราเป็นผู้จัดการสิ่งที่เป็นของพระเจ้าและเราอยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์ในขณะที่เราบริหารงานของพระองค์ การเป็นผู้อารักขาที่สัตย์ซื่อหมายถึงว่าเราตระหนักอย่างเต็มที่ว่าชีวิตไม่ได้เป็นของเราแต่เป็นของพระคริสต์ผู้ซึ่งเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงมอบพระองค์เองให้แก่เรา

คำถามท้ายสุดคือ ฉันเป็นพระเจ้าในชีวิตของฉันเองหรือพระคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตฉัน ดังนั้นใจความสำคัญของการเป็นผู้อารักขาคือการแสดงออกถึงการเชื่อฟังของเราอย่างเต็มที่ต่อพระเจ้าผู้ซึ่งเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเราก็คือพระเยซูคริสต์

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

การเป็นผู้อารักขาในทางพระคัมภีร์คืออะไร?
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries