settings icon
share icon
คำถาม

อริยมรรคคืออะไร

คำตอบ


อริยมรรคเป็นรากฐานของการปฏิบัติทางศาสนาพุทธ แนวคิดทั้งแปดประการที่อยู่ในอริยมรรคคือทัศนคติและพฤติกรรมที่ชาวพุทธพยายามเลียนแบบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักอริยสัจสี่ แนวคิดเหล่านี้แบ่งออกเป็นสามหมวดหลักๆ คือหมวดปัญญา หมวดศีล และหมวดสมาธิ ตามหลักอริยสัจสี่การที่ทุกชีวิตเป็นทุกข์นั้นเกิดจากความปรารถนาในสิ่งที่อนิจจัง และเนื่องจากสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจังแม้กระทั่งตัวเอง ทางเดียวที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ก็คือการขจัดความปรารถนาทั้งปวง ตามหลักของศาสนาพุทธแล้วสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อปฏิบัติตามอริยมรรค

แม้จะเรียกว่า “เส้นทาง” แต่องค์ประกอบทั้งแปดนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายไว้เพื่อปฏิบัติตามเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ ในทางกลับกันองค์ประกอบทั้งแปดนี้มีไว้ให้ปฏิบัติตามไปพร้อมๆ กันเพื่อดับความปรารถนาและบรรลุนิพพาน อริยมรรคและศาสนาพุทธเองมักแสดงให้เห็นถึงล้อแปดแฉกซึ่งคล้ายกับพวงมาลัยขับขี่ของเรือใบ องค์ประกอบของอริยมรรคคือ การเห็นชอบ การดำริชอบ การเจรจาชอบ การประพฤติชอบ การเลี้ยงชีพชอบ การเพียรชอบ การตั้งสติชอบ และการตั้งมั่นชอบ

องค์ประกอบของการเห็นชอบและการดำริชอบบางครั้งอ้างอิงถึงด้านปัญญาแห่งอริยมรรค

“การเห็นชอบ” โดยพื้นฐานหมายถึงการเชื่อในหลักอริยสัจสี่ว่าชีวิตคือความทุกข์ ความทุกข์เกิดจากการปรารถนาในสิ่งของชั่วคราว ทุกอย่างเป็นสิ่งชั่วคราวและเพียงแค่ปฏิบัติตามมรรคแปดเท่านั้นจึงจะสามารถกำจัดความปรารถนาทั้งหมดได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการตระหนักถึงแนวคิดเช่นการเกิดใหม่ (การกลับชาติมาเกิด) และกฎแห่งกรรม ตามหลักพระคัมภีร์แล้วสิ่งนี้เป็นเรื่องจริงที่เราต้องยอมจำนนต่อความจริงซึ่งเฉพาะเจาะจงเพื่อที่จะได้รับความรอด (ยอห์น 8:32) แต่พระคัมภีร์ไม่เห็นด้วยว่าความรู้ที่เฉพาะเจาะจงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรอดของคนคนหนึ่ง (เอเฟซัส 2:8, 1 โครินธ์ 3:19)

“การดำริชอบ” กล่าวถึงความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น ตามหลักอริยสัจและอริยมรรค บุคคลหนึ่งที่มีการดำริชอบนั้นยึดมั่นในคำสอนของศาสนาพุทธและเสาะหาเพื่อเปรียบเทียบความคิดและพฤติกรรมของเขาต่อคำสอนนี้ ตามหลักพระคัมภีร์แล้วมีการเรียกร้องให้ผู้เชื่อเปรียบเทียบความเชื่อและการกระทำของพวกเขากับมาตรฐานของพระคริสต์ (2 โครินธ์ 13:5, โรม 13:14, ยอห์น 15:14) อย่างไรก็ตามพระคัมภีร์ยอมรับเช่นเดียวกันว่าสิ่งที่คนต้องการลึกๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่เขาควรจะต้องการเสมอไป (เยเรมีย์ 17:9) ศาสนาพุทธไม่ได้ให้คำตอบว่าบุคคลหนึ่งควรเปลี่ยนความปรารถนาอันลึกซึ้งของตัวเองอย่างไรเพื่อที่จะพบกับการตรัสรู้ (ดูใน 2 โครินธ์ 10:12)

องค์ประกอบของการเจรจาชอบ การประพฤติชอบ และการเลี้ยงชีพชอบบางครั้งเป็นการอ้างอิงถึงหลักของจริยธรรมแห่งอริยมรรค

“การเจรจาชอบ” กล่าวถึงการใช้ถ้อยคำอย่างตรงไปตรงมา สุภาพ และอย่างมีจุดประสงค์ ซึ่งหมายถึงการหลีกเลี่ยงการนินทา การโกหก หรือคำพูดที่ดูถูกเหยียดหยาม การเจรจาชอบนั้นเกี่ยวข้องกับคำเขียนมากพอๆ กับคำพูด ผลข้างเคียงที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของวิธีการปฏิบัติต่อการเจรจาชอบของชาวพุทธคือการหลีกเลี่ยงการอภิปรายหัวข้อเกี่ยวกับจิตวิญญาณหรือหัวข้อเกี่ยวกับอภิปรัชญา ตามหลักศาสนาพุทธ คำถามบางคำถามของความเป็นจริงสูงสุดนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาอริยมรรคของบุคคลหนึ่ง ดังนั้นการอภิปรายถึงคำถามเหล่านั้นจึงไม่ใช่ “การเจรจาชอบ” ตามหลักพระคัมภีร์เราได้รับคำสั่งให้ควบคุมคำพูดของเรา (สุภาษิต 10:19) และให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น (1 ทิโมธี 6:4)

“การประพฤติชอบ” รวมถึงการหลีกเลี่ยงการกระทำต่างๆ เช่นการฆาตกรรม การขโมย การล่วงประเวณี และการกระทำอื่นๆ หลักการทั่วไปซึ่งชี้นำสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ผิดก็คือการกระทำนั้นสร้างความเสียหายให้กับบุคคลอื่นหรือไม่ แน่นอนว่าพระคัมภีร์ได้ให้แนวทางที่ท้าทายในเรื่องหลักจริยธรรมด้านพฤติกรรม (มัทธิว 7:12, 1 โครินธ์ 9:27) โดยการผสมผสานพฤติกรรมกับทัศนคติภายใต้การจัดการเพียงครั้งเดียวต่อศีลธรรมและจริยธรรม (มัทธิว 5:21-22, 27-28) มาตรฐานของพระคัมภีร์สำหรับความถูกต้องกับความผิดนั้นไม่ใช่ว่าในท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลเสียต่อบุคคลอื่นหรือไม่ แต่ว่าสิ่งนั้นจะขัดแย้งกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของพระเจ้าหรือไม่

“การเลี้ยงชีพชอบ” นั้นคล้ายกับการประพฤติชอบแต่จะเน้นเฉพาะอาชีพของบุคคลหนึ่ง ตามหลักการนี้บุคคลหนึ่งไม่ควรฉ้อโกง โกหก มีส่วนร่วมในธุรกิจที่ชั่วร้าย หรือข่มเหงผู้คน เนื่องจากแนวทางของชาวพุทธเกี่ยวข้องกับสัตว์ ชีวิต และความรุนแรง กฎนี้จึงขัดขวางงานใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ การขายเนื้อสัตว์ หรือการผลิตรวมถึงการค้าอาวุธ ตามพระคัมภีร์แล้วบุคคลหนึ่งจะต้องจัดการทุกส่วนในชีวิตของเขาซึ่งรวมทั้งธุรกิจของเขาด้วยความเสมอภาพทางศีลธรรมและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม (สดุดี 44:21, โรม 2:16, 2 โครินธ์ 4:2) พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราเป็นผู้อารักขาธรรมชาติที่ดีเช่นเดียวกัน (เลวีนิติ 19:25, 25:2-5, ฮาบากุก 2:8, 17) อย่างไรก็ตามพระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามเรื่องการนำสัตว์ไปใช้ (มาระโก 7:19, ปฐมกาล 1:28) หรือวิธีการป้องกันตัวเองที่ถูกต้องตามกฎหมาย (ลูกา 22:36)

องค์ประกอบของการเพียรชอบ การตั้งสติชอบ และการตั้งมั่นชอบ บางครั้งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นการจดจ่อกับลักษณะของอริยมรรค

“การเพียรชอบ” ต้องมีความพากเพียรและความระมัดระวังในการนำด้านอื่นๆ ของอริยมรรคมาใช้ ซึ่งมีความหมายว่าการพยายามหลีกเลี่ยงความคิดในแง่ร้ายและอารมณ์ด้านลบเช่น ความโกรธ และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สิ่งนี่แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์คือมีแนวโน้มที่จะเห็นแก่ตัวและเกียจคร้าน ศาสนาพุทธนำเสอนสิ่งที่ไม่ใช่วิธีการเฉพาะในการเปลี่ยนแปลงมุมมองเหล่านั้นในบุคคลผู้ที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง พระคัมภีร์กล่าวถึงความเต็มพระทัยและความสามารถของพระเจ้าในการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แม้ว่าในขณะที่เราต่อต้าน (2 เธสะโลนิกา 3:13, 1 โครินธ์ 6:11)

“การตั้งสติชอบ” นั้นคล้ายกับการเพียรชอบแต่เน้นที่จิตใจภายในและมุมมองทางด้านปรัชญามากกว่า ศาสนาพุทธส่งเสริมการตระหนักรู้ในตัวเองในระดับสูง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับวิธีที่บุคคลหนึ่งตอบสนองต่อประสบการณ์ของเขาและสิ่งแวดล้อม การตั้งสติประเภทนี้เน้นไปที่ปัจจุบัน โดยไม่เน้นเกี่ยวกับอดีตหรืออนาคต ตามหลักพระคัมภีร์แล้วเราได้รับการเรียกให้อารักขาความคิดของเราเช่นเดียวกันและให้ระมัดระวังว่าสภาพแวดล้อมของเราจะส่งผลกระทบต่อชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของเราอย่างไร (1 โครินธ์ 15:33, 6:12)

“การตั้งมั่นชอบ” เป็นแนวทางปฏิบัติหลักของศาสนาพุทธที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การสวดมนต์ และวิธีการเพ่งความสนใจอื่นๆ เป้าหมายของการทำสมาธิในรูปแบบนี้คือการทำให้จิตใจว่างเปล่าอย่างสมบูรณ์ต่อทุกสิ่งยกเว้นต่อสิ่งที่ทำให้เกิดสมาธิ การแสดงออกขั้นสูงสุดของรูปแบบการตั้งมั่นอย่างจดจ่อนี้คือสมาธิ เมื่อบุคคลหนึ่งพัฒนาจนผ่านระดับการไตร่ตรองต่างๆ ไปจนกระทั่งเขาบรรลุถึงสภาวะของความไม่รับรู้และความไม่รู้สึกอย่างสมบูรณ์ นี่จึงแสดงถึงความขัดแย้งอีกประการหนึ่งกับคำสอนในพระคัมภีร์ พระคัมภีร์สนับสนุนแนวคิดเรื่องการใคร่ครวญและการสำรวจตัวเอง (สดุดี 1:2, 119:15) แต่ไม่ใช่ด้วยเป้าหมายของการทำจิตใจ “ให้ว่าง” ในทางตรงกันข้ามเป้าหมายของการใคร่ครวญแบบคริสเตียนคือการมุ่งเน้นไปที่ความจริงของพระวจนะของพระเจ้า ตามหลักพระคัมภีร์การใคร่ครวญเป็นการเติมจิตใจด้วยพระวจนะที่พระเจ้าทรงเปิดเผย

โดยสรุปแล้วมีบางประเด็นที่เห็นตรงกันระหว่างศาสนาคริสต์ที่เชื่อในหลักการของพระคัมภีร์กับศาสนาพุทธในหลักอริยมรรค อย่างไรก็ตามความแตกต่างที่มากมายเป็นทั้งรากฐานและเป็นสิ่งซึ่งเข้ากันไม่ได้ ตามที่อริยมรรคบอกไว้ว่าบุคคลหนึ่งที่ไม่สามารถช่วยให้ตัวเองให้บรรลุผลตามมุมมองทั้งหมดนั้นย่อมไม่สามารถเดินตามทางนั้นได้ ทางเลือกเดียวของเขาคือหวังว่าความปรารถนา ความตั้งใจ และความพยายามของเขานั้นจะเปลี่ยนแปลงได้เอง พระคัมภีร์อธิบายว่าหัวใจของคนคนหนึ่งไว้ใจไม่ได้ที่จะแสวงหาความดีในตัวเองและของตัวเอง (เยเรมีย์ 17:9, โรม 3:10-12, 7:18-24) แต่ใจใดๆ ก็ตามสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยผ่านการมีความสัมพันธ์กับพระคริสต์ (โรม 7:25, กาลาเทีย 3:13)

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

อริยมรรคคืออะไร
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries