settings icon
share icon
คำถาม

เหตุใดพระเจ้าทรงเกลียดชังการหย่าร้าง

คำตอบ


พระธรรมมาลาคี 2:16 เป็นตอนที่มักหยิบยกมากล่าวถึงว่าพระเจ้ารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการหย่าร้าง “พระเยโฮวาห์พระเจ้าของอิสราเอลตรัสว่า เราเกลียดชังการหย่าร้าง” แต่ข้อนี้บอกอะไรได้มากกว่านั้น หากเราย้อนกลับไปที่ข้อ 13 เราจะอ่านเจอว่า “เจ้ามาบีบน้ำตารดแท่นบูชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า เจ้าร้องไห้สะอึกสะอื้น เพราะพระองค์ไม่ทรงแยแสหรือพอพระทัยที่จะรับเครื่องบูชาจากมือของเจ้า เจ้าถามว่า “ทำไมทรงทำเช่นนี้” ก็เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพยานระหว่างเจ้ากับภรรยาตั้งแต่วัยหนุ่มของเจ้า เพราะเจ้าทรยศนอกใจนาง ทั้งที่นางเป็นคู่ครองของเจ้า เป็นภรรยาตามพันธสัญญาในการแต่งงานของเจ้า พระองค์ได้ทรงผูกพันทั้งคู่เป็นหนึ่งเดียวกันไม่ใช่หรือ ทั้งกายและวิญญาณของทั้งคู่เป็นของพระองค์ เขาเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่ออะไร ก็เพื่อจะมีลูกหลานที่ชอบธรรมให้กับพระองค์นั่นเอง ฉะนั้นจงควบคุมสติอารมณ์ของเจ้าให้ดี อย่าคิดนอกใจภรรยาที่เจ้าได้มาตั้งแต่ยังหนุ่ม”

เราได้เรียนรู้หลายสิ่งจากตอนนี้ ประการแรกคือพระเจ้าไม่ทรงฟังคำวิงวอนในการขอพรจากคนเหล่านั้นที่ละเมิดพันธสัญญาของการแต่งงาน พระธรรม 1 เปโตร 3:7 กล่าวว่า “สามีทั้งหลายจงอยู่กับภรรยาด้วยความเห็นอกเห็นใจ จงให้เกียรติภรรยาในฐานะเป็นผู้ที่อ่อนแอกว่าและในฐานะทายาทผู้รับชีวิตซึ่งเป็นของประทานอันทรงพระคุณจากพระเจ้าร่วมกับท่าน เพื่อจะไม่มีสิ่งใดขัดขวางคำอธิษฐานของท่านทั้งสอง” (เน้นเพิ่มเติมโดยผู้เขียน) มีความเกี่ยวพันธ์โดยตรงระหว่างวิธีที่ผู้ชายปฏิบัติต่อภรรยาของเขาและประสิทธิผลจากคำอธิษฐานของเขา

พระเจ้าทรงอธิบายเหตุผลของพระองค์ไว้อย่างชัดเจนถึงการยกย่องการแต่งงานไว้อย่างสูงส่ง พระองค์ตรัสว่าพระองค์เป็นผู้ที่ “ทำให้เขาทั้งสองเป็นอันเดียวกัน” (มาลาคี 2:15) การแต่งงานเป็นความคิดของพระเจ้า หากพระองค์ออกแบบสิ่งนี้มาแล้ว พระองค์ก็เป็นผู้ให้คำจำกัดความสิ่งนี้เช่นกัน การเบี่ยงเบนใดๆ จากการออกแบบของพระองค์ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจต่อพระองค์ การแต่งงานไม่ใช่สัญญาแต่เป็นพันธสัญญา การหย่าร้างทำลายแนวคิดทั้งหมดของพันธสัญญาซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อพระเจ้า

ในพระคัมภีร์พระเจ้ามักจะทำให้มองเห็นภาพเพื่อใช้ในการสอนความเป็นจริงฝ่ายวิญญาณ เมื่ออับราฮัมถวายอิสอัคบุตรชายของเขาบนแท่นบูชานั้น เป็นภาพสะท้อนในวันซึ่งอีกหลายร้อยปีต่อมาองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ (ปฐมกาล 22:9, โรม 8:32) เมื่อพระเจ้าทรงประสงค์การเสียสละด้วยเลือดเพื่อยกโทษบาป พระองค์ทรงวาดภาพการเสียสละที่สมบูรณ์แบบซึ่งพระองค์เองจะทรงกระทำบนไม้กางเขน (ฮีบรู 10:10)

การแต่งงานเป็นภาพของพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรของพระองค์ (ฮีบรู 9:15) พันธสัญญาคือคำมั่นสัญญาที่ไม่อาจทำลายได้และพระเจ้าต้องการให้เราเข้าใจว่าพันธสัญญานั้นจริงจังมากเพียงใด เมื่อเราหย่ากับใครคนหนึ่งที่เราได้ทำพันธสัญญาด้วย นั่นเป็นการดูถูกแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ในพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงสร้าง คริสตจักร (บุคคลเหล่านั้นที่ได้ต้อนรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า) มีการนำเสนอในพระคัมภีร์ว่าเป็น “เจ้าสาวของพระคริสต์” (2 โครินธ์ 11:2, วิวรณ์ 19:7-9) เราในฐานะประชากรของพระองค์ได้ “แต่งงาน” กับพระองค์โดยผ่านพันธสัญญาที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมา มีการใช้ตัวอย่างที่คล้ายกันนี้ในอิสยาห์ 54:5 เกี่ยวกับพระเจ้าและอิสราเอล

เมื่อพระเจ้าทรงริเริ่มการแต่งงานในสวนเอเดน พระองค์ทรงสร้างให้เป็นภาพแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งมนุษย์สามารถรับรู้ได้ (ปฐมกาล 2:24) พระองค์ต้องการให้เราเข้าใจถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่เราสามารถมีส่วนในพระองค์ผ่านการไถ่บาป (1 โครินธ์ 6:17) เมื่อสามีหรือภรรยาเลือกที่จะละเมิดต่อพันธสัญญาของการแต่งงาน มันทำลายภาพแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าที่มีต่อเรา

พระธรรมมาลาคี 2:15 ให้เหตุผลแก่เราอีกประการหนึ่งที่พระเจ้าทรงเกลียดชังการหย่าร้าง พระองค์ตรัสว่าพระองค์ทรง “ย่อมประสงค์ลูกหลานที่เชื่อฟังพระเจ้า” การออกแบบของพระเจ้าสำหรับครอบครัวคือชายหนึ่งคนและหญิงหนึ่งคนให้คำมั่นสัญญาต่อกันและกันเพื่อชีวิตและเลี้ยงดูลูกให้มีความเข้าใจแนวคิดในเรื่องพันธสัญญาเช่นกัน เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในบ้านซึ่งมีสุขอนามัยที่ดีมีทั้งพ่อและแม่มีโอกาสประสบความสำเร็จในการแต่งงานของพวกเขาเองมากขึ้น

เมื่อพระเยซูถูกถามว่าทำไมกฎหมายถึงอนุญาตให้หย่าร้างได้ พระองค์ทรงตอบว่าพระเจ้าทรงอนุญาตเพียง “เพราะใจท่านทั้งหลายแข็งกระด้าง แต่เมื่อเดิมมิได้เป็นอย่างนั้น” (มัทธิว 19:8) พระเจ้าไม่เคยปรารถนาให้การหย่าร้างเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์และนั้นทำให้พระองค์เสียพระทัยเมื่อเรามีใจแข็งกระด้างและทำลายพันธสัญญาที่พระองค์ได้สร้างขึ้นมา



English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

คำถาม เหตุใดพระเจ้าทรงเกลียดชังการหย่าร้าง
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries