settings icon
share icon
คำถาม

คริสเตียนควรอยู่กันเป็นก๊กไหม

คำตอบ


ก๊กนั้นอาจถูกมองว่าเป็นกลุ่มพิเศษของผู้คนซึ่งใช้เวลาด้วยกันและไม่เป็นมิตรกับคนภายนอก ผู้คนมักจะถูกดึงดูดเข้าหาผู้อื่นที่เหมือนกับพวกเขาและบางครั้งโดยที่ไม่ทันรู้ตัวก็สร้างเป็นก๊กขึ้นมา เมื่อเราพบเจอกันใครสักคนที่มีความชอบเหมือนกัน มีอารมณ์ขันเหมือนกัน และมีโลกทัศน์ที่คล้ายกัน เราก็อยากจะใช้เวลากับเขาหรือเธอมากขึ้น เราสนุกกับการอยู่รายล้อมด้วยผู้คนที่ให้คุณค่ากับมุมมองและบุคลิกภาพเหมือนกับของเรา สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ในการใช้เวลากับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเราสนุกด้วย แต่การไม่แสดงความเมตตาหรือเพิกเฉยต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนของคุณนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ พระคัมภีร์บอกเราให้รักทุกคนเหมือนที่เรารักตัวเอง (กาลาเทีย 5:14) รวมถึงผู้ที่แตกต่างจากเราด้วย

ก๊กนั้นมักจะเชื่อมโยงกับพฤติกรรมที่ยังไม่โตเต็มที่ของเด็กๆ ในโรงเรียน แต่คริสตจักรบางแห่งก็มีชื่อเสียงในเรื่องของการมีก๊กเช่นกัน บางนิกายก็โน้มเอียงต่อการเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ออกไปมากกว่านิกายอื่นๆ และทัศนคติของคนที่มารวมตัวกันนั้นมักจะเป็นภาพสะท้อนของความเป็นผู้นำ ศิษยาภิบาลที่เปิดใจ ถ่อมใจ และกระตือรือร้นที่จะเชื่อมต่อกับทุกๆ คนมันจะนำคริสตจักรที่เต็มไปด้วยผู้คนซึ่งมีทัศนคติเดียวกัน อย่างไรก็ตามศิษยาภิบาลที่พิจารณาว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าผู้นมัสการทั่วไปหรือผู้ที่แยะตัวเองออกไปอยู่ในวงแคบๆ เพียงไม่กี่คนสามารถเป็นแรงบันดาลใจอย่างไม่รู้ตัวต่อผู้มาร่วมนมัสการของเขาให้ทำสิ่งที่เหมือนกัน พระธรรม 1 เปโตร 5:5 เตือนเราเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าวคือ “...ท่านทุกคนจงสวมความถ่อมตัวในการปฏิบัติต่อกันและกัน เพราะพระเจ้าทรงต่อสู้คนที่หยิ่งจองหอง แต่ประทานพระคุณแก่คนที่ถ่อมใจ”

เราอดไม่ได้ที่จะเข้าหาผู้คนที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจและเป็นที่ยอมรับ ซี.เอส.ลูอิส (C.S. Lewis) กล่าวไว้เป็นอย่างดีว่า “มิตรภาพเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คนคนหนึ่งกล่าวกับอีกคนว่า ‘อะไรนั่น คุณด้วยเหรอ ฉันคิดว่าฉันเป็นคนเดียวเสียอีก’” เมื่อเราพบกับหลายคนซึ่งมีประสบการณ์แบบนั้นเหมือนกัน เราอาจจะอยากเป็นเพื่อนกับพวกเขามากกว่าคนเหล่านั้นที่เราไม่รู้จักดีหรือไม่สนใจที่จะอยู่ใกล้เป็นพิเศษ การทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่อาจทำให้รู้สึกอึดอัดใจและไม่สบายใจ ดังนั้นโดยธรรมชาติเราจึงแสวงหาผู้ที่เรารู้จักอยู่แล้ว และรูปแบบนั้นสามารถนำไปสู่การสร้างก๊กได้ แวดวงเพื่อนกลายเป็นก๊กได้เมื่อพวกเขาสูญเสียความสนใจในการพบปะคนใหม่ๆ และไม่ได้ต้อนรับเป็นพิเศษเมื่อคนใหม่พยายามเข้ามา

ภายในคริสตจักร การมีอยู่ของก๊กอาจจะนำความเสียหายอย่างมากมาสู่จิตวิญญาณสำหรับสมาชิกใหม่และโดยเฉพาะผู้เชื่อที่อ่อนแอ พระธรรมยากอบ 2:1 กล่าวว่า “พี่น้องของข้าพเจ้า ในเมื่อพวกท่านมีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งศักดิ์ศรีของเรานั้น ก็จงอย่าลำเอียง” ความลำเอียงนี้อาจเป็นเพราะสถานะทางการเงิน ความโด่งดัง รูปร่างหน้าตา วิถีชีวิต หรือประวัติส่วนบุคคล ผู้เชื่อต้องตระหนักถึงความโน้มเอียงต่อความลำเอียงและขจัดมันออกไปเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นอยู่ภายในตัวเราเอง เมื่อเรายอมรับอคติของเราต่อหน้าพระเจ้า เราก็ได้ก้าวไปอีกขั้นในการเอาชนะอคติเหล่านั้น เราจะไม่สามารถเปลี่ยนในสิ่งที่เราไม่ยอมรับได้

มีคนบอกว่าพระเยซูเป็นส่วนหนึ่งของก๊ก เนื่องจากพระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับเปโตร ยากอบ และยอห์นเท่านั้น (มาระโก 5:37) พระเยซูมีสาวกมากมาย (ยอห์น 6:60) แต่มีอัครสาวกเพียงสิบสองคนเท่านั้นที่ได้รับเลือก (มัทธิว 10:1) เป็นเรื่องจริงที่พระองค์ทรงแบ่งปันประสบการณ์ฝ่ายวิญญาณซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดบางประการกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ที่สุดเท่านั้น แต่นั่นถือว่าเป็นการตั้งก๊กหรือไม่

คนที่มีสุขภาพจิตใจดีตระหนักว่าความสัมพันธ์มีหลายระดับ และไม่ใช่ทุกคนที่สมควรได้รับความไว้วางใจในระดับเดียวกัน ชีวิตของพระเยซูแสดงให้เห็นถึงสมดุลที่สมบูรณ์แบบในความสัมพันธ์ พระองค์มีเพื่อนวงในวงเล็กๆ ที่ไว้ใจได้ แต่พระองค์ไม่ได้ใช้เวลาว่างทั้งหมดกับพวกเขาเพียงอย่างเดียว ชีวิตของพระองค์นั้นใช้ไปกับการปฏิสัมพันธ์ การอวยพระพร การสอน และการปรนนิบัติทุกคนที่เข้ามาหาพระองค์ และพระองค์ก็สอนสาวกของพระองค์ให้ทำในสิ่งเดียวกัน (มัทธิว 4:23, 12:15, ลูกา 20:1) พระเยซูให้อย่างไม่เห็นแก่ตัวโดยที่ไม่ได้อนุญาตให้ใครเอาอะไรที่พระองค์ไม่พร้อมจะให้ไป แม้แต่ชีวิตของพระองค์เองก็ถูกเอาไปจากพระองค์ แต่พระองค์ก็ให้ด้วยความเต็มพระทัย (ยอห์น 10:18)

เราไม่สามารถใช้ช่วงเวลาทั้งหมดของเราในการให้ แม้กระทั่งพระเยซูก็ทรงใช้เวลาที่จะอยู่เพียงลำพังกับพระบิดา (มาระโก 6:45-46) พระองค์ยังทรงหนุนใจสาวกให้พัก (มาระโก 6:31) ผู้ที่มีสุขภาพจิตใจที่ดีรู้ถึงความแตกต่างระหว่างผู้ที่พวกเขาปรนนิบัติและผู้ที่ช่วยพวกเขาแบกภาระในการปรนนิบัติ แล้วพวกเขาใช้เวลาและพลังงานที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม

กลุ่มเพื่อนสนิทอาจไม่จำเป็นต้องเป็นก๊ก คนเหล่านั้นอาจเป็นผู้ที่พบความสนิทสนมด้วยได้เพื่อช่วยแบกรับภาระของพวกเขา ถ้าพวกเขาทุ่มเทให้กับการปรนนิบัติผู้อื่นและให้อย่างไม่เห็นแก่ตัวกับผู้ที่ไม่สามารถให้คืนได้ เช่นนั้นพวกเขาอาจต้องการเพื่อนวงในเพื่อบรรเทาจากความกดดันของการให้อย่างไม่ลดละเช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงกระทำ ผู้ที่ทำงานรับใช้เต็มเวลาต้องการคนสำคัญที่พวกเขาไว้วางใจได้เป็นพิเศษและสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องเรียกร้องและถูกกดดันให้รับใช้ตลอดเวลา ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนนี้อาจจะมองด้วยความอิจฉาแล้วเรียกว่าเป็นก๊ก โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่าทุกคน รวมถึงผู้นำพันธกิจก็ต้องการกลุ่มเพื่อนที่ไว้ใจได้

แม้ว่าเป้าหมายของคริสเตียนทุกคนควรที่จะเป็นแบบอย่างของพระคริสต์และพัฒนาความเห็นอกเห็นใจที่ไม่เห็นแก่ตัวสำหรับทุกคน กระนั้นการปลูกฝังมิตรภาพที่แน่นแฟ้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตามถ้ากลุ่มเพื่อนนี้กล่ายเป็นกลุ่มปิดซึ่งจงใจตัดผู้ที่จะมาเป็นเพื่อนคนอื่นๆ ออกไป เช่นนั้นกลุ่มนี้อาจกลายเป็นกลุ่มที่อ่อนแอ ถ้าความเฉพาะตัวของกลุ่มในคริสตจักรทำให้พระกายของพระคริสต์ได้รับบาดเจ็บหรือถูกโจมตี กลุ่มนั้นควรพิจารณาที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของมันใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงชื่อเสียงของการเป็นก๊ก

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

คริสเตียนควรอยู่กันเป็นก๊กไหม
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries