settings icon
share icon
คำถาม

พระคัมภีร์กล่าวอะไรเกี่ยวกับการเป็นคนดื้อหรือความดื้อ

คำตอบ


ในบางวัฒนธรรม “ดื้อเหมือนล่อ” เป็นสำนวนที่ใช้อธิบายถึงคนที่เมินเฉยโดยเฉพาะ พระธรรมสดุดี 32:8-9 กล่าวเป็นนัยถึงธรรมชาติในความดื้อของล่อเมื่อกล่าวว่า “เราจะแนะนำและสอนเจ้าถึงทางที่เจ้าควรจะเดินไป เราจะให้คำปรึกษาแก่เจ้าและเฝ้าดูเจ้าอยู่ อย่าเป็นเหมือนม้าหรือล่อที่ปราศจากความเข้าใจ ซึ่งต้องติดสายผ่าปากและบังเหียน มิฉะนั้นมันจะไม่มาใกล้เจ้า” เมื่อพูดถึงการทำตามพระบัญชาของพระเจ้า เราต้องไม่ดื้อ หัวแข็ง หรือรั้น เราต้องไม่หันหน้าหนีแล้ว “ทำให้คอแข็ง” เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมจำนนและอ่อนน้อมในพระหัตถ์ของพระองค์ มันไม่ใช่ความปรารถนาของเราที่จะให้พระเจ้าใช้สายบังเหียนควบคุมเรา

พระคัมภีร์บันทึกตัวอย่างพฤติกรรมที่ดื้อรั้นเหมือนล่อของมนุษย์ในบางโอกาส ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมนั้นฟาโรห์มีชื่อเสียงด้านความดื้อ (อพยพ 7:13-14) แต่การไม่ยอมเชื่อฟังนำมาซึ่งสิ่งที่ไม่ดีกับตัวของพระองค์เองและชนชาติของพระองค์ ความดื้อรั้นยังปรากฎให้เห็นในเวลาต่อมาโดยชนชาติอิสราเอล ซึ่งประชากรที่พระเจ้าทรงเลือก ผู้ซึ่งกบฏต่อพระเจ้าซ้ำแล้วซ้ำอีก หันเหจากความรักและการปกป้องของพระองค์ ในความเป็นจริงแล้วคำในภาษาฮีบรูที่แปลคำว่า “ดื้อรั้น” หมายถึง “หันจากไป มีความหัวแข็งทางด้านศีลธรรม กบฏ และการเสื่อมถอย”

พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมบรรยายถึงประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าของชาวยิวที่หันหลังให้กับพระเจ้าอย่างดื้อดึง ลืมพระราชกิจของพระองค์ ไม่ทำตามพระบัญญัติของพระองค์ และติดตามพระแปลกๆ ในพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 9 โมเสสบรรยายถึงความดื้อของชาวอิสราเอลซึ่งเกี่ยวข้องกับลูกวัวทองคำที่พวกเขาสร้างบนภูเขาซีนาย ในเวลานั้นพระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “เราได้เห็นชนชาตินี้แล้ว และดูสิ เขาเป็นชนชาติที่หัวแข็ง” (เฉลยธรรมบัญญัติ 9:13) ความโกรธของพระเจ้ายิ่งรุนแรงมากกระทั่งที่พระองค์ทรงพิจารณาว่าจะทำลายประชากรทั้งหมดเพราะพวกเขาดื้อรั้นและ “คอแข็ง” (ข้อ 14)

พระเจ้าทรงถือว่าความดื้อเป็นบาปใหญ่หลวงถึงขนาดที่พระองค์ทรงรวมเข้ากับสิ่งที่ทุกวันนี้ดูเหมือนเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไปสำหรับลูกที่ดื้อและกบฏ ถ้าลูกชายไม่เชื่อฟังพ่อแม่ของเขา ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน และมีชีวิตเกเร พ่อแม่จะต้องพาเขาไปหาผู้อาวุโสในเมืองและ “แล้วชาวเมืองนั้นจะเอาหินขว้างเขาให้ตาย ท่านต้องขจัดความชั่วร้ายออกไปจากหมู่พวกท่าน ชนอิสราเอลทั้งปวงจะได้ยินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเกรงกลัว” (เฉลยธรรมบัญญัติ 21:21) ความดื้อรั้น อีกทั้งการต่อต้านพระเจ้าและอำนาจที่ได้รับการแต่งตั้งของพระองค์เป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งสามารถแพร่กระจายออกไปทั่วชุมชนเหมือนยาพิษ กฎหมายของโมเสสซึ่งต่อต้านการกบฏที่ดื้อด้านั้นได้รับการสร้างขึ้นมาเพื่อหยุดการกระจายนั้น

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่เราเห็นตัวอย่างของความดื้อที่มากขึ้น เมื่อพระเยซูรักษาชายมือลีบคนหนึ่งในวันสะบาโต จิตใจที่แข็งกระด้างของพวกฟาริสีทำให้พระเยซูเศร้าโศกและโกรธ แทนที่จะสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าสำหรับฤทธิ์อำนาจแห่งการรักษาและยอมรับพระเมสสิยาห์ หัวใจที่กบฏของพวกฟาริสีทำให้พวกเขาอยากจะฆ่าพระองค์ (มาระโก 3:1-6) ในขณะที่สเทเฟนกำลังจะจบการปราศรัยต่อหน้าสภาแซนเฮดริน เขาต่อว่าผู้คนที่ดื้อรั้นบ้าบิ่นคือ “ท่านเหล่าประชากรผู้หัวแข็ง ผู้มีจิตใจและหูที่ไม่ได้เข้าสุหนัต! ท่านก็เป็นเหมือนบรรพบุรุษของท่าน พวกท่านต่อต้านพระวิญญาณบริสุทธิ์เสมอ!” (กิจการ 7:51)

เมื่อเปาโลเทศนาให้แก่ชาวยิวในเมืองโครินธ์ เขาปฏิเสธอย่างต่อเนื่องที่จะรับข้อความแห่งความรอดผ่านทางพระเยซูคริสต์ เป็นระยะเวลาสามเดือนที่เปาโลโต้เถียงกับพวกเขาในธรรมศาลาของพวกเขาแต่ “บางคนใจดื้อด้านไม่ยอมเชื่อและพูดให้ร้าย “ทางนั้น” ต่อหน้าสาธารณชน” (กิจการ 19:9) ผลก็คือเปาโลพาพวกสาวกออกไปและปล่อยให้ผู้ที่ปฏิเสธข่าวดีอยู่ในความดื้อและความไม่เชื่อของพวกเขา

ช่างน่าเศร้าที่นี่คือชะตากรรมซึ่งรอคอยทุกคนที่ยังคงปฏิเสธพระคริสต์ ท้ายที่สุดแล้วพระเจ้าจะกระทำให้ใจของพวกเขาแข็งกระด้างและไม่วิงวอนร่วมกับพวกเขาอีกต่อไป ผลลัพธ์ที่น่าเศร้าของความดื้อดึงหัวแข็งแสดงให้เห็นชัดเจนในโรม 2:5 คือ “แต่เพราะท่านใจแข็งดื้อด้านและไม่ยอมกลับใจ ท่านจึงส่ำสมพระพิโรธให้แก่ตนเองไว้สำหรับวันแห่งพระพิโรธของพระเจ้า เมื่อพระองค์ทรงสำแดงการพิพากษาอันชอบธรรม”

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

พระคัมภีร์กล่าวอะไรเกี่ยวกับการเป็นคนดื้อหรือความดื้อ
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries