settings icon
share icon
คำถาม

เราควรเรียนรู้อะไรจากชีวิตของซาโลมอน

คำตอบ


ซาโลมอนเป็นกษัตริย์องค์ที่สามและองค์สุดท้ายของอาณาจักรอิสราเอล ซึ่งต่อจากกษัตริย์ซาอูลและกษัตริย์ดาวิด เขาเป็นบุตรของดาวิดและบัทเชบา ภรรยาคนก่อนของอุรีอาห์คนฮิตไทต์ที่ดาวิดได้ฆ่าเพื่อปกปิดการมีชู้กับบัทเชบาในขณะที่สามีของเธออยู่ระหว่างการสู้รบ ซาโลมอนเขียนพระธรรมบทเพลงซาโลมอน พระธรรมปัญญาจารย์ และพระธรรมสุภาษิตเป็นส่วนใหญ่ การเขียนพระธรรมปัญญาจารย์ของเขาถูกท้าทายโดยคนบางคน แต่ซาโลมอนเป็น “บุตรของดาวิด” เพียงคนเดียวที่เป็น “กษัตริย์เหนืออิสราเอล” (ไม่ใช่แค่ในยูดาห์เท่านั้น) “ในกรุงเยรูซาเล็ม” (ปัญญาจารย์ 1:1, 12) และคำอธิบายหลายประการของผู้เขียนนั้นตรงกับซาโลมอนอย่างสมบูรณ์ ซาโลมอนครองราชย์เป็นเวลานานถึง 40 ปี (1 พงศ์กษัตริย์ 11:42)

อะไรคือจุดเด่นในชีวิตของซาโลมอน เมื่อเขาขึ้นครองราชย์ เขาได้แสวงหาพระเจ้า และพระเจ้าทรงให้โอกาสเขาในการขอสิ่งใดก็ได้ที่เขาต้องการ ซาโลมอนยอมรับอย่างถ่อมใจถึงการไม่มีความสามารถในการปกครองที่ดีและได้อ้อนวอนพระจ้าเพื่อขอสติปัญญาที่จำเป็นต่อการปกครองประชากรของพระเจ้าด้วยความยุติธรรม พระเจ้าทรงประทานสติปัญญาและความมั่งคั่งให้กับเขาเช่นเดียวกัน (1 พงศ์กษัตริย์ 3:4-15, 10:27) ในความเป็นจริงแล้ว “พระราชาซาโลมอนจึงยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์อื่นๆ ในโลก ในเรื่องสมบัติและสติปัญญา” (1 พงศ์กษัตริย์ 10:23) พระเจ้าทรงประทานสันติภาพรอบด้านในขณะที่เขาครองราชย์ (1 พงศ์กษัตริย์ 4:20-25)

หนึ่งในตัวอย่างที่พบบ่อยด้านสติปัญญาของซาโลมอนคือการตัดสินคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับตัวตนของแม่ที่แท้จริงของเด็กทารก (1 พงศ์กษัตริย์ 3:16-28) ซาโลมอนเสนอว่าจะตัดแบ่งครึ่งเด็กทารกที่มีชีวิตอยู่ โดยรู้ว่าแม่ที่แท้จริงจะยอมเสียลูกของตนให้กับผู้หญิงอีกคนมากกว่าที่จะฆ่าเขา ซาโลมอนไม่เพียงแต่เฉลียวฉลาดในการครองราชย์เท่านั้น แต่ยังมีความเฉลียวฉลาดในเรื่องทั่วไปเช่นเดียวกัน ความเฉลียวฉลาดของเขาทำให้เขามีชื่อเสียงในสมัยของเขา พระราชินีแห่งเชบาเดินทาง 1,200 ไมล์ (1,931.21 กิโลเมตร; เพิ่มเติมโดยผู้แปล) เพื่อมาพิสูจน์ข่าวลือเกี่ยวกับความเฉลียวฉลาดและความสง่างามของเขา (พระธรรม 1 พงศ์กษัตริย์บทที่ 10) “และซาโลมอนตรัสตอบปัญหาทุกข้อของพระนาง ไม่มีสิ่งใดซ่อนเร้นจากพระราชาซึ่งพระองค์จะทรงตอบพระนางไม่ได้ และเมื่อพระราชินีแห่งเชบาทรงเห็นพระสติปัญญาทั้งสิ้นของซาโลมอน และพระราชวังที่พระองค์ทรงสร้าง ทั้งอาหารที่โต๊ะเสวย กับที่นั่งของบรรดาข้าราชการ และการปรนนิบัติของพวกมหาดเล็ก ตลอดจนเครื่องแต่งกายของพวกเขา อีกทั้งพนักงานเชิญถ้วยเสวยของพระองค์ รวมทั้งเครื่องบูชาเผาทั้งตัวของพระองค์ที่ทรงถวายบูชา ณ พระนิเวศของพระยาห์เวห์ พระทัยของพระนางก็ตื่นตะลึงอย่างยิ่ง” (1 พงศ์กษัตริย์ 10:3-5) ซาโลมอนไม่ได้เพียงแต่พิสูจน์ว่าเขามีความรู้เท่านั้น แต่ยังนำสติปัญญาของเขาออกมาใช้ในการทำงานของราชอาณาจักรอีกด้วย

ซาโลมอนเขียนสุภาษิตและบทเพลงมากกมาย (1 พงศ์กษัตริย์ 4:32) และทำให้งานก่อสร้างหลากหลายงานสำเร็จ (1 พงศ์กษัตริย์ 7:1-2, 9:15-23) ซาโลมอนได้สร้างกองทัพเรือและได้ทองมากมายจากเมืองโอฟีร์ร่วมกับฮีรามกษัตริย์ของเมืองไทระในฐานะที่เป็นพันธมิตรกัน (1 พงศ์กษัตริย์ 9:26-28, 10:11, 22) เป็นไปได้ว่าโครงการก่อสร้างซึ่งสำคัญที่สุดของซาโลมอนคือการสร้างพระวิหารกรุงเยรูซาเล็มให้เสร็จตามคำแนะนำและการเตรียมการจากบิดาของเขาซึ่งก็คือดาวิด (พระธรรม 1 พงศ์กษัตริย์บทที่ 6, พระธรรม 1 พงศาวดารบทที่ 22)

ซาโลมอนมีภรรยา 700 คนและภรรยานอกสมรสอีก 300 คน โดยหลายคนเป็นชาวต่างชาติที่นำเขาไปสู่การบูชารูปเคารพในที่สาธารณะในวัยสูงอายุของเขา ทำให้พระเจ้าทรงโมโหอย่างมาก (1 พงศ์กษัตริย์ 11:1-13) พระธรรม 1 พงศ์กษัตริย์ 11:9-10 บันทึกว่า “พระยาห์เวห์กริ้วซาโลมอน เพราะพระทัยของท่านได้หันไปจากพระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งอิสราเอล ผู้ทรงปรากฏแก่ท่านสองครั้งแล้ว และได้ทรงบัญชาท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าท่านไม่ควรไปติดตามพระอื่นๆ แต่ท่านไม่ได้รักษาพระบัญชาของพระยาห์เวห์” พระเจ้าทรงตรัสกับซาโลมอนว่าจะนำอาณาจักรไปจากเขา แต่เพื่อเห็นแก่ดาวิดพระองค์จะไม่ทำในช่วงชีวิตของซาโลมอน และพระองค์ทรงสัญญาว่าจะไม่ทำลายทั้งอาณาจักรทิ้งไป ในเวลาเดียวกันพระเจ้าทรงตั้งปรปักษ์ขึ้นมาให้ต่อสู้กับซาโลมอนซึ่งได้สร้างปัญหาตลอดชีวิตที่เหลือให้แก่เขา (1 พงศ์กษัตริย์ 11:14-25) เยโรโบอัมผู้ซึ่งจะได้เป็นกษัตริย์องค์แรกของอิสราเอลเริ่มกบฏต่อซาโลมอนเช่นกัน แต่ก็หนีไปได้ (1 พงศ์กษัตริย์ 11:26-40) อาณาจักรถูกแบ่งเป็นสองส่วนภายใต้เรโหโบอัม บุตรของซาโลมอน (พระธรรม 1 พงศ์กษัตริย์บทที่ 12)

มีหลายๆ บทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากชีวิตของซาโลมอน ประการแรกคือเมื่อเราแสวงหาพระเจ้าด้วยสุดหัวใจของเรา เราจะพบพระองค์ (1 พงศ์กษัตริย์ 3:3-7) ประการที่สองคือใครที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าผู้นั้นจะได้รับเกียรติจากพระองค์ (1 พงศ์กษัตริย์ 3:11-13, 1 ซามูเอล 2:30) ประการที่สามคือพระเจ้าทรงเตรียมเราให้พร้อมเพื่อที่จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ตามที่พระองค์ทรงเรียกให้เราทำได้สำเร็จถ้าเราพึ่งพงพระองค์ (พระธรรม 1 พงศ์กษัตริย์บทที่ 3, โรม 12:3-8, 2 เปโตร 1:3) ประการที่สี่คือชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของเราเหมือนการวิ่งแข่งในระยะไกล ไม่ใช่การแข่งวิ่งเร็วในระยะสั้น การเริ่มต้นที่ดีไม่เพียงพอเสมอไปสำหรับการที่จะจบลงด้วยดี (พระธรรม 1 พงศ์กษัตริย์บทที่ 3 และ 11) ประการที่ห้าคือเราสามารถขอพระเจ้าให้โน้มใจของเราให้เข้าไปหาพระองค์ได้ (1 พงศ์กษัตริย์ 8:57-58) แต่เราจะเดินออกจากทางแห่งความชอบธรรมถ้าเราเลือกที่จะฝ่าฝืนพระวจนะที่มีการเปิดเผยของพระองค์ ประการที่หกคือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเราจะได้รับผลกระทบจากชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของเรา (อพยพ 34:16, 1 พงศ์กษัตริย์ 11:1-8, พระธรรมดาเนียลบทที่ 1 และ 3, 1 โครินธ์ 15:33) ดังนั้นเราต้องระมัดระวังอย่างมากในการเลือกคบหาเพื่อน ประการที่เจ็ดคือชีวิตที่แยกออกจากพระเจ้าจะไม่มีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความสำเร็จในเป้าหมาย ความปีติยินดี และความสมบูรณ์มั่งคั่ง (ปัญญาจารย์ 1:2)

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

เราควรเรียนรู้อะไรจากชีวิตของซาโลมอน
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries