settings icon
share icon
คำถาม

เราควรเรียนรู้อะไรจากชีวิตของอับราฮัม

คำตอบ


นอกจากโมเสสแล้วก็ไม่มีบุคคลใดในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมที่ได้รับการกล่าวถึงในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่มากกว่าอับราฮัม ยากอบเรียกอับราฮัมว่าเป็น “สหายของพระเจ้า” (ยากอบ 2:23) เป็นชื่อที่ไม่มีใครในพระคัมภีร์ใช้ ผู้เชื่อในทุกยุคทุกสมัยนั้นมีการเรียกว่าเป็น “บุตรของอับราฮัม” (กาลาเทีย 3:7) ความสำคัญและอิทธิพลของอับราฮัมในประวัติศาสตร์ของการไถ่นั้นเห็นได้ชัดเจนในพระคัมภีร์

ชีวิตของอับราฮัมได้รับการบรรยายจากพระธรรมปฐมกาลเป็นส่วนมาก จากการกล่าวถึงเขาครั้งแรกตั้งแต่ปฐมกาล 11:26 ไปจนถึงการเสียชีวิตของเขาในปฐมกาล 25:8 แม้ว่าเราจะรู้หลายอย่างเกี่ยวกับชีวิตของอับราฮัม กระนั้นเรารู้เกี่ยวกับการเกิดและช่วงต้นของชีวิตเขาเพียงน้อยนิด เมื่อเราพบอับราฮัมครั้งแรกเขาอายุได้ 75 ปีแล้ว พระธรรมปฐมกาล 11:28 บันทึกไว้ว่าพ่อของอับราฮัมคือเท-ราห์ที่อาศัยอยู่ในเมืองเออร์ เมืองซึ่งมีอิทธิพลในทางตอนใต้ของเมโสโปเตเมียตั้งอยู่บนแม่น้ำยูเฟรติสประมาณกึ่งกลางระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับเมืองแบกแดดในปัจจุบัน เรายังเรียนรู้ว่าเท-ราห์ออกเดินทางแล้วพาครอบครัวไปที่ดินแดนคานาอันแต่กลับไปตั้งหลักปักฐานอยู่ที่เมืองฮารานทางตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย (บนเส้นทางการค้าจากบาบิโลนโบราณประมาณกึ่งกลางระหว่างนีนะเวห์กับดามัสกัส)

เรื่องราวของอับราฮัมเริ่มน่าสนใจในตอนต้นของพระธรรมปฐมกาลบทที่ 12 โดยในสามข้อแรกเราได้เห็นการที่พระเจ้าทรงเรียกอับราฮัมคือ

“พระยาห์เวห์ตรัสแก่อับรามว่า “เจ้าจงออกจากดินแดนของเจ้า จากญาติพี่น้องของเจ้า จากบ้านบิดาของเจ้า ไปยังดินแดนที่เราจะสำแดงแก่เจ้า เราจะให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ เราจะอวยพรเจ้า จะให้เจ้ามีชื่อเสียงใหญ่โต แล้วเจ้าจะเป็นพร เราจะอวยพรคนที่อวยพรเจ้า เราจะสาปคนที่แช่งเจ้า บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า” (ปฐมกาล 12:1-3)

พระเจ้าทรงเรียกอับรมฮัมจากบ้านของเขาในฮารานและบอกให้เขาไปยังเมืองที่พระเจ้าจะให้อับราฮัมเห็น พระเจ้าทรงกระทำพระสัญญากับอับราฮัมสามประการคือ 1) สัญญาว่าจะให้อับรมฮัมมีดินแดนของตัวเอง 2) สัญญาว่าอับราฮัมจะเป็นชนชาติซึ่งใหญ่มาก และ 3) สัญญาแห่งการอวยพร พระสัญญาเหล่านี้ทำให้เกิดพื้นฐานของสิ่งที่ในภายหลังจะเรียกว่าธรรมบัญญัติของอับราฮัม (เกิดขึ้นในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 15 และได้รับการยืนยันในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 17) สิ่งที่ทำให้อับราฮัมพิเศษนั้นแท้จริงแล้วก็คือเขาเชื่อฟังพระเจ้า ในพระธรรมปฐมกาล 12:4 บันทึกไว้ว่า หลังจากที่พระเจ้าทรงเรียกอับราฮัม เขาก็ไป “ตามพระดำรัสของพระยาห์เวห์” ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูใช้อับราฮัมเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับความเชื่อหลายครั้งและอ้างอิงอย่างเฉพาะเจาะจงถึงการกระทำที่น่าประทับใจของเขาคือ “โดยความเชื่อ เมื่ออับราฮัมได้รับการทรงเรียกให้ออกเดินทางไปยังที่ที่ท่านจะรับเป็นมรดก ท่านก็เชื่อฟังและเดินทางออกไปโดยไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน” (ฮีบรู 11:8)

มีพวกเราสักกี่คนที่จะทิ้งทุกสิ่งซึ่งเราคุ้นเคยไว้ข้างหลังแล้วไปโดยที่ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางคือที่ไหน แนวคิดเรื่องครอบครัวหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับคนในยุคสมัยของอาดัม ในเวลานั้นหน่วยครอบครัวผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นคือ มันผิดปกติที่สมาชิกในครอบครัวจะอาศัยอยู่ห่างกันเป็นหลายร้อยไมล์ (ประมาณมากกว่า 160 กิโลเมตร; เพิ่มเติมโดยผู้แปล) มากไปกว่านั้นก็ไม่ได้มีการบอกเราเกี่ยวกับชีวิตในด้านศาสนาของอับราฮัมและครอบครัวก่อนที่เขาจะได้รับการเรียก ผู้คนในเมืองเออร์และฮารานนมัสการพระโบราณของบาบิโลนที่อยู่ในวิหารของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ สิ่งนี้เป็นบาป พระเจ้าก็เลยเรียกอับราฮัมออกจากวัฒนธรรมนอกรีต อับราฮัมรู้และยอมรับการทรงเรียกของพระยาเวห์ องค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อฟังอย่างเต็มใจ ไม่ใช่อย่างลังเล

อีกตัวอย่างหนึ่งของชีวิตแห่งความเชื่อของอับราฮัมปรากฏในการเกิดของอิสอัคลูกชายของเขา อับราฮัมและซาราห์ไม่มีลูก (ซึ่งเป็นแหล่งแห่งความน่าละอายใจในวัฒนธรรมนั้น) แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าอับราฮัมจะมีลูกชาย (ปฐมกาล 15:4) ลูกชายคนนี้จะเป็นทายาทของทรัพย์สมบัติมากมายของอับราฮัมซึ่งพระเจ้าจะทรงอวยพระพรเขา และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ เขาจะเป็นทายาทแห่งพระสัญญาและเป็นเชื้อสายของเสทที่เดินในทางของพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง อับราฮัมเชื่อในพระสัญญาของพระเจ้าและจากความเชื่อนั้นเขาก็ได้รับการยอมรับว่าเขาเป็นคนชอบธรรม (ปฐมกาล 15:6) พระเจ้าทรงย้ำคำสัญญาของพระองค์กับอับราฮัมอีกครั้งในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 17 และเขาก็ได้รับรางวัลเพราะความเชื่อของเขาในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 21 ด้วยการเกิดมาของอิสอัค

ความเชื่อของอับราฮัมจะถูกทดสอบในเรื่องของอิสอัคลูกชายของเขา ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 22 พระเจ้าบัญชาอับราฮัมให้ถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชาบนยอดเขาโมริยาห์ เราไม่รู้ว่าอับราฮัม ตอบสนองต่อพระบัญชานี้ภายในใจอย่างไร สิ่งเดียวที่เราเห็นคืออับราฮัมเชื่อฟังพระเจ้าผู้ทรงเป็นโล่ของเขาอย่าสัตย์ซื่อ (ปฐมกาล 15:1) และผู้ทรงเมตตาและดีต่อเขามาจนถึงจุดนี้ เช่นเดียวกับพระบัญชาก่อนหน้านี้ให้ออกจากบ้านและครอบครัวของเขา อับราฮัมก็เชื่อฟัง (ปฐมกาล 22:3) เรารู้ว่าเรื่องราวจบลงด้วยการที่พระเจ้าห้ามไม่ให้อับราฮัมถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชาแต่ลองจินตนาการว่าอับราฮัมจะรู้สึกอย่างไร เขาได้รอคอยมาหลายสิบปีเพื่อที่จะมีลูกของตัวเองและพระเจ้าที่สัญญาว่าจะให้ลูกคนนี้กับเขากำลังจะเอาเขาไป ประเด็นก็คือว่าความเชื่อของอับราฮัมในพระเจ้านั้นยิ่งใหญ่กว่าความรักที่เขามีให้ลูกชายของเขาและเขาก็วางใจถึงแม้ว่าถ้าเขาได้ถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชา พระเจ้าก็จะสามารถทำให้เขาฟื้นขึ้นมาจากความตายได้ (ฮีบรู 11:17-19)

แน่นอนว่าอับราฮัมมีช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวและการทำบาป (เช่นเดียวกับพวกเราทุกคน) และพระคัมภีร์ไม่ได้หลีกเลี่ยงที่จะเล่าถึงเรื่องราวเหล่านั้น เรารู้อย่างน้อยสองครั้งที่อับราฮัมโกหกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเขากับซาราห์เพื่อปกป้องตัวเองในดินแดนที่มีศัตรู (ปฐมกาล 12:10-20, 20:1-18) ในทั้งสองเหตุการณ์นี้พระเจ้าทรงปกป้องและอวยพรอับราฮัมแม้ว่าเขาจะขาดความเชื่อ เรายังรู้เช่นเดียวกันว่าความหงุดหงิดของการไม่มีลูกนั้นทำให้อับราฮัมและซาราห์หนักใจ ซาราห์เสนอให้อับราฮัมมีลูกกับฮาการ์สาวใช้ของซาราห์ในนามของเธอ อับราฮัมก็ตกลง (ปฐมกาล 16:1-15) การเกิดมาของอิชมาเอลไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความไร้ประโยชน์ของความโง่เขลาและการขาดความเชื่อของอับราฮัมเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงพระคุณของพระเจ้า (ในการอนุญาตให้เกิดและแม้กระทั่งอวยพรอิชมาเอลด้วย) น่าสนใจที่อับราฮัมและซาราห์ถูกเรียกว่าอับรามและซารายในเวลานั้น แต่เมื่ออิชมาเอลอายุสิบสามปี พระเจ้าทรงให้ชื่อใหม่แกอับรามพร้อมกับบัญญัติในการเข้าสุหนัตและกระทำพันธสัญญาใหม่อีกครั้งที่จะให้ลูกชายกับเขาผ่านทางซาราย ผู้ซึ่งพระเจ้าจะทรงประทานชื่อใหม่ให้เช่นเดียวกัน (พระธรรมปฐมกาลบทที่ 17) อับรามซึ่งหมายถึง “บิดาผู้เป็นที่ยกย่อง” มาเป็นอับราฮัมคือ “บิดาของมวลชน” แน่นอนว่าอับราฮัมมีลูกหลานทางกายภาพมากมายและทุกคนที่วางใจไว้ในพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสต์ก็ถือว่าเป็นทายาททางฝ่ายวิญญาณของอับราฮัมเช่นกัน (กาลาเทีย 3:29) “บิดาของผู้สัตย์ซื่อ” มีช่วงเวลาแห่งความสงสัยและความไม่เชื่อ แต่เขายังคงได้รับการยกย่องท่ามกลางมนุษย์ให้เป็นตัวอย่างของชีวิตแห่งความเชื่อ

บทเรียนที่ชัดเจนข้อหนึ่งซึ่งได้เรียนรู้จากชีวิตของอับราฮัมคือเราต้องดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ อับราฮัมสามารถนำอิสอัคลูกชายของเขาขึ้นไปยังภูเขาโมริยาห์ได้เพราะเขารู้ว่าพระเจ้าทรงสัตย์ซื่อที่จะรักษาพระสัญญาของพระองค์ ความเชื่อของอับราฮัมไม่ได้เป็นความเชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตา แต่ความเชื่อของเขานั้นเป็นความมั่นใจและความไว้วางใจที่แน่วแน่ในพระองค์ผู้ทรงพิสูจน์แล้วว่าทรงเป็นผู้สัตย์ซื่อและแท้จริง ถ้าเราย้อนมองดูชีวิตของเราเอง เราจะเห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าซึ่งมีความสามารถในการจัดการเหนือทุกอย่าง พระเจ้าไม่ต้องมาเยี่ยมเยียนเราพร้อมกับเหล่าทูตสวรรค์หรือตรัสจากพุ่มไม้ที่กำลังลุกไหม้หรือแยกน้ำทะเลเพื่อที่จะทรงทำงานในชีวิตของเรา พระเจ้าทรงควบคุมดูแลและวางแผนเตรียมการสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเรา บางครั้งอาจจะดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ชีวิตของอับราฮัมเป็นหลักฐานที่บอกว่าการทรงสถิตของพระเจ้าในชีวิตของเรานั้นเป็นจริง แม้กระทั่งความผิดพลาดของอับราฮัมก็แสดงให้เห็นว่าในขณะที่พระเจ้า ไม่ได้ปกป้องเราจากผลลัพธ์สำหรับบาปของเรา แต่พระองค์ก็ทรงกระทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ในชีวิตของเราและผ่านเราด้วยความเมตตา ไม่มีสิ่งใดที่เราทำจะขัดขวางแผนการของพระองค์ได้

ชีวิตของอับราฮัมยังแสดงให้เราเห็นถึงพระพรของการเชื่อฟังอย่างเรียบง่าย เมื่อมีการขอให้ทิ้งครอบครัวของเขา อับราฮัมก็จากไป เมื่อมีการขอให้ถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชา อับราฮัมก็ “ลุกขึ้นแต่เช้ามืด” เพื่อทำเช่นนั้น จากสิ่งที่เราสามารถแยกแยะได้จากเรื่องราวในพระคัมภีร์นั้น ไม่มีความลังเลในการเชื่อฟังของอับราฮัม อับราฮัมก็เหมือนกับพวกเราส่วนมาก อาจจะรู้สึกเจ็บปวดกับการตัดสินใจเหล่านี้ แต่เมื่อถึงเวลาต้องลงมือทำ เขาก็ลงมือทำ เมื่อเราเข้าใจอย่างกระจ่างถึงเสียงเรียกที่แท้จริงจากพระเจ้าหรือเราอ่านคำแนะนำของพระองค์ในพระวจนะของพระองค์ เราต้องลงมือทำ การเชื่อฟังไม่ใช่ทางเลือกเมื่อพระเจ้าทรงบัญชาบางสิ่งบางอย่าง

นอกจากนี้เรายังเห็นจากอับราฮัมว่าการมีความสัมพันธ์ที่กระตือรือร้นกับพระเจ้านั้นเป็นอย่างไร ในขณะที่อับราฮัมไวต่อการเชื่อฟัง เขาก็ไม่ลังเลที่จะถามคำถามกับพระเจ้า อับราฮัมเชื่อว่าพระเจ้าจะประทานลูกชายให้เขากับซาราห์ แต่ก็สงสัยว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร (ปฐมกาล 17:17-23) ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 18 เราอ่านเรื่องราวที่อับราฮัมขอร้องให้ช่วยเมืองโสโดมและโกโมราห์ อับราฮัมยืนยันว่าพระเจ้าทรงบริสุทธิ์และยุติธรรม รวมถึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าพระองค์จะทรงทำลายคนชอบธรรมไปพร้อมกับคนบาปได้อย่างไร เขาขอให้พระเจ้าไม่ทำลายเมืองที่บาปเหล่านี้เพื่อเห็นแก่คนชอบธรรมห้าสิบคน และยังคงถามต่อจนจำนวนเหลือสิบคน ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่มีคนชอบธรรมสิบคนในเมืองโสโดม แต่พระเจ้าก็ทรงไว้ชีวิตโลทหลานชายของอับบราฮัมและครอบครัวของเขา (พระธรรมปฐมกาลบทที่ 19) มันน่าสนใจมากที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแผนการของพระองค์กับอับราฮัมก่อนที่จะทำลายเมืองทั้งสองและพระองค์ก็ไม่ได้ทรงตกใจกับคำถามของอับราฮัม ตัวอย่างของอับราฮัมในที่นี้แสดงให้เราเห็นว่าการโต้ตอบกับพระเจ้าเกี่ยวกับแผนการของพระองค์ การขอร้องให้กับผู้อื่น การไว้วางใจในความยุติธรรมของพระเจ้า และการยอมจำนนต่อน้ำพระทัยของพระองค์นั้นเป็นอย่างไร

ความพลาดพลั้งด้านความเชื่อของอับราฮัม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสถานการณ์ของฮาการ์และอิชมาเอลแสดงให้เราเห็นถึงความโง่เขลาของการพยายามที่จะจัดการกับเรื่องต่างๆ ด้วยมือของเราเอง พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะให้ลูกชายกับอับราฮัมกับซาราห์แต่ด้วยความใจร้อนของพวกเขา แผนการของพวกเขาในการทำให้อับราฮัมมีทายาทนั้นส่งผลตรงกันข้ามกับที่พวกเขาคิดไว้ ประการแรกความขัดแย้งระหว่างซาราห์และฮาการ์เกิดขึ้น แล้วต่อมาเป็นความขัดแย้งระหว่างอิชมาเอลและอิสอัค ลูกหลานของอิชมาเอลกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของประชาชนของพระเจ้า ดังที่เราได้เรียนรู้ในภายหลังในเรื่องราวของพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมและยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและเพื่อนบ้านชาวอาหรับของเรา เราไม่สามารถที่จะทำให้น้ำพระทัยของพระเจ้าสำเร็จได้ด้วยกำลังของเราเองคือ ความพยายามของเราท้ายที่สุดแล้วจะลงเอยด้วยการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ไขปัญหา บทเรียนนี้มีการปรับใช้ที่หลากหลายในชีวิตของเรา ถ้าพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะทำอะไร เราต้องสัตย์ซื่อและอดทน อีกทั้งรอให้พระองค์ทำสำเร็จในเวลาของพระองค์เอง

จากมุมมองทางหลักศาสนศาสตร์ ชีวิตของอับราฮัมเป็นแบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนแบบ sola fide ซึ่งก็คือการแสดงความชอบธรรมโดยความเชื่อเพียงอย่างเดียว อัครทูตเปาโลใช้ชื่ออับราฮัมเป็นตัวอย่างของหลักคำสอนที่สำคัญนี้สองครั้ง ในพระธรรมโรมบทที่สี่ทั้งบทนั้นอุทิศให้กับภาพของการแสดงถึงความชอบธรรมโดยความเชื่อผ่านทางชีวิตของอับราฮัม การโต้เถียงที่คล้ายๆ กันนี้อยู่ในพระธรรมกาลาเทียซึ่งเปาโลแสดงให้เห็นจากชีวิตของอับราฮัมว่าคนต่างชาติเป็นทายาทร่วมกับชาวยิวในการอวยพรของอับราฮัมผ่านทางความเชื่อ (กาลาเทีย 3:6-9, 14, 16, 18, 29) สิ่งนี้ย้อนกลับไปถึงปฐมกาล 15:6 คือ “อับรามก็เชื่อพระยาห์เวห์ ความเชื่อนั้นพระองค์ทรงถือว่าเป็นความชอบธรรมแก่ท่าน” ความเชื่อของอับราฮัมในพระสัญญาของพระเจ้านั้นเพียงพอสำหรับพระเจ้าที่จะประกาศว่าเขาชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้า ดังนั้นจึงเป็นการพิสูจน์หลักการจากโรม 3:28 อับราฮัมไม่ได้ทำอะไรเพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรม ความไว้วางใจของเขาในพระเจ้านั้นเพียงพอแล้ว

เราเห็นการทำงานของพระคุณของพระเจ้าในช่วงต้นของพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ข่าวประเสริฐไม่ได้เริ่มต้นด้วยชีวิตและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูแต่ย้อนกลับไปถึงพระธรรมปฐมกาล ในปฐมกาล 3:15 พระเจ้าทรงสัญญาว่า “พงศ์พันธุ์ของนาง” จะทำให้หัวของงูแหลก นักศาสนศาสตร์เชื่อว่านี่เป็นการกล่าวถึงข่าวประเสริฐครั้งแรกในพระคัมภีร์ พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมที่เหลือบันทึกเหตุการณ์ความสำเร็จของข่าวประเสริฐของพระคุณของพระเจ้าผ่านทางเชื้อสายแห่งพระสัญญาซึ่งเริ่มต้นโดยเสท (ปฐมกาล 4:26) การทรงเรียกของอับราฮัมเป็นเพียงอีกชิ้นส่วนหนึ่งในเรื่องราวของการไถ่ เปาโลบอกเราว่าข่าวประเสริฐนั้นได้รับการประกาศให้กับอับราฮัมล่วงหน้าเมื่อพระเจ้าบอกเขาว่า “ชนทุกชาติจะได้รับพรเพราะเจ้า” (กาลาเทีย 3:8)

อีกสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากชีวิตของอับราฮัมคือความเชื่อไม่ใช่มรดกที่ตกทอดไปสู่กันได้ ในมัทธิว 3:9, ลูกา 3:8 และยอห์น 8:39 เราได้เรียนรู้ว่ามันไม่เพียงพอที่จะสืบเชื้อสายทางกายมาจากอับราฮัมเพื่อจะได้รับความรอด การประยุกต์ใช้สำหรับเราก็คือมันไม่เพียงพอที่จะได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวคริสเตียน เราไม่ได้เข้าสู่การสามัคคีธรรมกับพระเจ้าหรือได้เข้าสู่สวรรค์โดยอิงจากความเชื่อของคนอื่น พระเจ้าไม่มีความจำเป็นต้องช่วยเราให้รอดเพียงเพราะเรามีเชื้อสายคริสเตียนที่สมบูรณ์แบบ เปาโลใช้ชื่ออับราฮัมเพื่อให้เห็นภาพนี้ในพระธรรมโรมบทที่ 9 ที่เขากล่าวว่าไม่ใช่ทุกคนซึ่งเป็นลูกหลานของอับราฮัมจะได้รับเลือกให้ได้รับความรอด (โรม 9:7) พระเจ้าเลือกอย่างยิ่งใหญ่สูงสุดสำหรับผู้ที่จะได้รับความรอด แต่ความรอดนั้นมาจากความเชื่อเดียวกันกับที่อับราฮัมฝึกฝนในชีวิตของเขา

ท้ายที่สุดเราเห็นว่ายากอบใช้ชีวิตของอับราฮัมเป็นตัวอย่างว่าความเชื่อโดยที่ไม่มีการกระทำนั้นคือความตาย (ยากอบ 2:21) ตัวอย่างที่เขาใช้คือเรื่องของอับราฮัมและอิสอัคบนภูโมริยาห์ เพียงแค่เห็นด้วยกับความจริงของข่าวประเสริฐนั้นไม่พอสำหรับการช่วยให้รอด ความเชื่อต้องนำไปสู่การทำสิ่งที่ดีด้วยการเชื่อฟังซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ ความเชื่อซึ่งพอที่จะพิสูจน์ถึงอับราฮัมและนับเขาว่าเป็นผู้ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้า (พระธรรมปฐมกาลบทที่ 15) เป็นความเชื่อเดียวกันกับที่กระตุ้นให้เขาลงมือปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าในการถวายลูกของเขาก็คืออิสอัคเป็นเครื่องบูชา อับราฮัมได้รับการพิสูจน์โดยความเชื่อและความเชื่อของเขาก็ได้รับการพิสูจน์โดยการกระทำของเขา

โดยรวมแล้วเราเห็นว่าอับราฮัมเป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่าง ไม่ใช่เพราะความกตัญญูหรือชีวิตที่สมบูรณ์แบบของขา (เขาก็มีจุดอ่อนของเขาตามที่เราได้เห็น) แต่เพราะชีวิตของเขาแสดงให้เห็นถึงความจริงมากมายเกี่ยวกับชีวิตคริสเตียน พระเจ้าทรงเรียกอับราฮัมจากผู้คนนับล้านคนบนโลกเพื่อให้เป็นจุดประสงค์ของการอวยพระพรของพระองค์ พระเจ้าทรงใช้ชื่ออับราฮัมเพื่อเล่นบทบาทสำคัญในการทำให้เรื่องราวของการไถ่นั้นสำเร็จ ซึ่งมีผลคือการประสูติของพระเยซู อับราฮัมเป็นตัวอย่างที่มีชีวิตของความเชื่อและความหวังในพระสัญญาของพระเจ้า (ฮีบรู 11:8-10) ชีวิตของเราควรดำเนินไปอย่างนั้นเพื่อว่าเมื่อเราดำเนินไปถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ความเชื่อของเราเหมือนกับของอับราฮัมนั้นจะยังคงเป็นมรดกอันยาวนานสำหรับผู้อื่น

English



กลับสู่หน้าภาษาไทย

เราควรเรียนรู้อะไรจากชีวิตของอับราฮัม
แบ่งปันหน้านี้: Facebook icon Twitter icon Pinterest icon Email icon
© Copyright Got Questions Ministries